สสส. เปิดเวทีรับฟังความเห็น สร้างช่องทางเข้าถึงสิทธิรักษาตามเพศวิถี เครือข่ายฯ ชี้ เพื่อความเท่าเทียมในการรับบริการสุขภาพ
วันนี้ (22 ก.ย. 2563) สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น “ยุทธศาสตร์สุขภาวะกลุ่ม LGBTIQN+ ฉบับแรกของประเทศไทย” โดยภาคีเครือข่ายเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมด้านสุขภาวะของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ควบคู่กับการได้รับสิทธิในระบบบริการสาธารณสุขของรัฐ ลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ
ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ระบุว่า ในปี 2564-2566 สสส. และสถาบันวิจัย จะเริ่มดำเนินงานในด้านต่าง ๆ เช่น โครงการเพศวิถีหลากหลายในความหมายของครอบครัว, โครงการขับเคลื่อนกฎหมายชีวิตคู่เพื่อสร้างความเท่าเทียมเรื่องการแต่งงานในสังคม, พัฒนาเครื่องมือและกลไกการสนับสนุนสมาชิก ครอบครัว เพื่อน และคู่ชีวิต, ทบทวนสถานการณ์และเก็บข้อมูลความรอบรู้ด้านสุขภาพ พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ, พัฒนาแนวคำถามสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ในแบบสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และคู่มือสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในสถานการณ์โควิด-19
“ปัจจุบันเรายังไม่ทราบจำนวนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่มีข้อมูลชัดเจนด้านสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมาการเข้าถึงฮอร์โมนอาจถูกมองว่าเป็นเรื่องของความสวยความงาม แต่เมื่อมีข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพจากการใช้ยาผิดประเภทที่ส่งผลต่อเยาวชน จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับปัจจุบันมากขึ้น”
ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความสำคัญของยุทธศาสตร์สุขภาวะ LGBTIQN+ คือ การทำให้กลุ่มคนข้ามเพศมีสุขภาวะทางสุขภาพที่ดี สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ ปัญญา และการมีชีวิตอยู่ในสังคม เพราะทุกอย่างเชื่อมโยงกันในองค์รวม หากทำให้เกิดความสมดุลในส่วนนี้ได้ ก็จะทำให้พวกเขาได้รับความเท่าเทียมในการรับบริการสุขภาพ
สำหรับยุทธศาสตร์สุขภาวะ LGBTIQN+ มี 5 ข้อ
- การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
- การพัฒนาฐานข้อมูลและการบริหารจัดการองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะ LGBTIQN+
- การสร้างระบบบริการสุขภาวะที่เป็นธรรมและเข้าถึงด้านได้สำหรับ LGBTIQN+
- การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายและชุมชน LGBTIQN+ เพื่อการส่งเสริมสุขภาวะ
- การพัฒนาศักยภาพเยาวชนด้านการเสริมสร้างสุขภาวะ LGBTIQN+
“หลายประเทศอย่างแคนาดา ยอมรับว่าการที่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าไม่ถึงฮอร์โมน หรือการข้ามเพศ ส่งผลต่อการออกตัวสร้างฐานะ หรือพัฒนาศักยภาพ ช้ากว่าชายหญิงทั่วไป เพราะช่วงเริ่มต้นต้องเก็บเงินเพื่อเข้าสู่กระบวนการข้ามเพศ ดังนั้น การเข้าถึงบริการสุขภาวะตามเพศวิถี จึงถือเป็นการพัฒนาคนรูปแบบหนึ่ง ที่รัฐจะต้องให้ความสำคัญตามหลักความเท่าเทียมด้านสุขภาพ”
ขณะที่ข้อมูลจากภาควิชากุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี พบปัญหาของเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่เข้ารับคำปรึกษามากที่สุด คือ โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล รองลงมาคือการขอความรู้และรับฮอร์โมนเพศ เพื่อความสุขในการใช้ชีวิตตามเพศวิถี และการปฏิบัติตัวอย่างไรให้ครอบครัวและสังคมรอบข้างยอมรับ โดยที่ไม่ถูกบูลลี่ และสุดท้ายคือเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์