นักศึกษา ร่วมจับตาวาระพิจารณาญัตติร่าง รธน.

ชี้ ปิดกั้นการมีส่วนร่วมกระทบสิทธิชุมชน คือ ปัญหาของ รธน. 60 ด้าน อมธ. ย้ำ ต้องแก้ ม.27 เปิดทางตัวแทนกลุ่มหลากหลายทางเพศเข้าสภาฯ

วันนี้ (24 ก.ย. 2563) The Active สำรวจความเคลื่อนไหวนอกสภา ระหว่างมีวาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกันของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเวลา 16.00 น. กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “คณะประชาชนปลดแอก” นัดรวมตัวกัน เพื่อจับตาว่าจะมีมติเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่

หนึ่งในนั้น คือ แนวร่วมกลุ่มนักศึกษา ที่ก่อนหน้านี้อาจมีคำถามว่า มีความเข้าใจถึงปัญหาในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน

อาอีฉ๊ะ แก้วนพรัตน์ นักศึกษาคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ได้เริ่มต้นจับตาการทำงานของรัฐบาล คสช. ตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหาร ปี 2557 และร่วมค้านรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มาโดยตลอด เนื่องจากมองว่า ขาดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่นำมาสู่ปัญหาสิทธิในที่อยู่อาศัย ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สิทธิชาวเล การทำประมงชายฝั่ง และการขอให้ทบทวนเปิดเหมือง 12 จังหวัด

และล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา ก็ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องกรมโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดสงขลา ให้ยุติการแก้ไขและเปลี่ยนสีผังเมือง อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นสีม่วง เนื่องจากกังวลว่า จะเป็นการเอื้อพื้นที่ให้บริษัทเอกชนสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทั้งหมดนี้ จึงนำมาสู่การสนับสนุนแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากเสียงของประชาชน

“การที่จะทำนิคมอุตสาหกรรม อะไรต่าง ๆ ควรจะมีส่วนร่วมของประชาชนในการรับฟังความคิดเห็น แต่สิ่งที่รัฐบาลหรือระบบราชการทำ ไปเอาใครก็ไม่รู้มายกมือแล้วบอกว่าทำประชาคมแล้ว และผลกระทบต่าง ๆ ศึกษาแบบรวดเร็ว อย่างน้อยการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มันก็เกิดจากการมีส่วนร่วมของคนทุกชนชั้น ที่ต้องออกมามีส่วนร่วมและได้พูดในสิ่งที่ตัวเองอยากให้เกิดในรัฐธรรมนูญ”

อีกประเด็นที่ถูกเสนอว่าต้องแก้ไขด้วยรัฐธรรมนูญ และถูกพูดถึงในการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา คือ ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ

หนึ่งในนั้น คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เพิ่งออกประกาศยกเลิกการประกวดดาวเดือน โดยให้เหตุผลว่าเป็นตัวกำหนดความเหลื่อมล้ำ และให้เปลี่ยนมาเป็นการคัดเลือกแกนนำคณะผู้เปลี่ยนแปลงสังคม โดยไม่จำกัดเพศ

ศิวกรณ์ ทัศนศร โฆษกประจำองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า หากไม่มีการเรียกร้องในเชิงนโยบาย การแก้ปัญหาค่านิยมสังคมชายเป็นใหญ่ก็ไม่สามารถหมดไปจากสังคมได้ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ร่วมลงชื่อและสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ที่รวบรวมโดยไอลอว์ (iLaw หรือ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) เพราะมองว่า การจะแก้ไขมาตรา 27 ในรัฐธรรมนูญเพื่อให้คนทุกกลุ่มไม่แบ่งแยกเพศ มีสิทธิ เสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน จำเป็นต้องได้ตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภาที่เข้าใจในประเด็นความหลากหลายทางเพศ

ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมีเนื้อหาให้ตัดมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ 250 ส.ว. ที่แต่งตั้งโดย คสช. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และให้มี ส.ว. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนจำนวน 200 คน

“มาตรา 27 ที่เป็นปัญหาที่ระบุแค่ชายกับหญิง แต่ประเทศเราตอนนี้มันไกลมากไม่ได้มีแค่ชายหญิง เราก็แค่เปลี่ยนจากบุคคลเป็นบุคคลเท่าเทียมกัน ก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้ ที่เรากำลังเรียกร้องเรื่องสมรสเท่าเทียม เพราะ พ.ร.บ.คู่ชีวิต มันใช้ไม่ได้ในมุมมองของเรา เราถึงจะต้องเพิ่มจำนวน ส.ส. และ ส.ว. ที่เข้าไปนั่งในสภา เราอาจจะโชคดีถ้าได้สัดส่วน lgbtq ที่จะเข้าใจเรา”

โดยทั้ง 2 กลุ่ม ระบุว่า วันนี้ จะมีเพื่อน ๆ นักศึกษาบางส่วนไปเกาะติดบรรยากาศอยู่ที่รัฐสภา ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะเลือกติดตามผ่านช่องทางออนไลน์จากสื่อสำนักต่าง ๆ เพราะช่วงนี้อยู่ระหว่างการเตรียมตัวสอบ ขณะที่กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ประชาชนปลดแอก” ได้นัดรวมตัวกันที่รัฐสภาเช่นกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน