ส่วนใหญ่อภิปรายไม่เห็นด้วย ตั้ง ส.ส.ร. ให้แก้แค่บางมาตรา “ทนายอานนท์” มอง ส.ว. เตรียมคว่ำทุกร่าง เตรียมปราศรัยหน้าสภาเย็นนี้
สำหรับความเคลื่อนไหวบริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา (เกียกกาย) วันนี้ (24 ก.ย. 2563) ตั้งแต่ช่วงสายที่ผ่านมา เริ่มมีการรวมตัวของประชาชนที่เตรียมตัวเข้าร่วมชุมนุมตามที่ คณะประชาชนปลดแอก และกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ฯลฯ นัดหมายประกาศชุมนุมตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไป โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลได้จัดกำลังรับมือผู้ชุมนุม 5 กองร้อย แบ่งเป็นดูแลภายในพื้นที่รัฐสภา 3 กองร้อย โดยรอบรัฐสภา 1 กองร้อย และสำหรับกรณีฉุกเฉิน 1 กองร้อย
ขณะที่การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญวันที่สอง เริ่มตั้งแต่เวลา 09.30 น. โดยมี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานที่ประชุมในช่วงแรก ด้าน วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า การอภิปรายวันแรกใช้ 13 ชั่วโมง 5 นาที 27 วินาที ส่วนการอภิปรายวันนี้ (24 ก.ย.) รัฐบาลเหลือเวลาอภิปรายอีก 3 ชั่วโมง 20 นาที ฝ่ายค้านเหลือ 3 ชั่วโมงถ้วน ส่วน ส.ว. เหลือ 2 ชั่วโมง 33 นาที ซึ่งคาดว่าเวลา 18.00 น. จะจบตามที่ตกลงไว้ โดยการลงมติจะใช้วิธีการขานชื่อสมาชิกรัฐสภาทีละคน และให้ลงมติด้วยวาจาว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับญัตติใดบ้าง
มีรายงานข่าวว่า ในการประชุมวิปรัฐบาลเพื่อกำหนดทิศทางการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ร่าง ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ยกเว้นพรรครวมพลังประชาชาติไทย จะเห็นชอบตามร่างแก้ไขฉบับที่นายวิรัช ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐและคณะ เป็นผู้เสนอ เพียงฉบับเดียวเท่านั้น คือแก้มาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร. ส่วนท่าทีของ ส.ว. ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจน
แนวโน้ม ความเห็น ส.ว.
แม้จะยังไม่เห็นท่าทีชัดเจนจาก ส.ว. ส่วนใหญ่ แต่หากประมวลจากการอภิปรายของ ส.ว. ตลอดวันครึ่งที่ผ่านมา พบหลายคนเห็นควรมีการแก้ไขในรายมาตรา ซึ่งหากมีในมาตราใดที่มีปัญหาก็ควรแก้ที่มาตรานั้น และไม่สนับสนุนการแก้ไขการร่างใหม่ทั้งฉบับ หรือการเลือกตั้ง ส.ส.ร.
โดยยกเหตุผลว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่านการลงประชามติมาแล้ว เนื้อหาก็มีการแก้ไขปรับปรุงจากปัญหาทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา แม้จะยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่สมบูรณ์ มีข้อผิดพลาดแต่ไม่ใช่ทั้งฉบับ รวมทั้งเห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ต้องใช้เงินจำนวนมาก ใช้เวลายาวนาน และยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่า จะแก้ไขอย่างไร หมวดใดบ้าง เหมือนการตีเช็คเปล่า
นายแพทย์เจตน์ ศิรธรานนท์ (ส.ว.) เห็นว่า ไม่เหมาะที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ขณะที่มีวิกฤติต่าง ๆ เกิดขึ้น การแก้ไขทั้งฉบับนั้นไม่ต่างจากการตีเช็คเปล่า ซึ่งไม่รู้จะแก้ไขอะไรบ้าง นอกจากนี้ยังต้องมีการทำประชามติ 2 ครั้ง ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ และเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เป็นฉบับปราบโกงที่ผ่านการทำประชามติมาแล้วโดยมีผู้เห็นด้วย 16 ล้านคน ไม่เห็นด้วย 10 ล้านคน ก็มีข้อห้ามหลายอย่างที่ป้องกันการทุจริต จึงกังวลว่า ประเด็นเหล่านี้จะหายไปหากยกร่างใหม่
เสรี สุวรรณภานนท์ (ส.ว.) อภิปรายว่า การจะแก้ไข รธน. จำเป็นต้องพิจารณากันให้ดี ที่ผ่านมามีการพูดถึง ส.ว. ในเชิงให้ร้ายว่า ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน สืบทอดอำนาจเผด็จการ ทั้งที่ ส.ว. ชุดนี้ก็มาจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชาพิจารณ์แล้ว และมาจากความเห็นชอบของประชาชน เช่นเดียวกับ สมชาย แสวงการ (ส.ว.) ที่เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เปิดให้มีการแก้ไขได้อยู่แล้ว ซึ่งการล้มรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะกระทบกับการป้องกันการทุจริต จึงแก้ไขเฉพาะจุดที่เป็นปัญหา
พลโท ศานิตย์ มหาถาวร (ส.ว.) ระบุว่า ม. 191, 192 ที่ทำให้มีปัญหาการเลือกตั้ง จริง ๆ แล้วเห็นว่าเป็นปัญหากฎหมายลูกที่ผูกกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้น หากต้องการแก้ไขในจุดนั้นก็ควรไปแก้ที่จดหมายลูก ไม่ใช่แก้ที่รัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ การที่จะไปแก้ในหมวด 1 และ 2 นั้นก็เป็นการไม่เหมาะสมและไม่ควรจะต้องไปแก้ไขใด ๆ
ขณะที่ในสื่อสังคมออนไลน์มีการวิเคราะห์ว่า มีแนวโน้มที่ ส.ว. จะโหวตคว่ำทุกญัตติ โดย อานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา ว่า “ท่าทีล่าสุด สว.เตรียมคว่ำทุกร่าง สนุกแน่ เย็นนี้” โดยนายอานนท์ เป็นหนึ่งในรายชื่อที่เตรียมปราศรัยในการชุมนุมเย็นนี้ เช่นเดียวกับเฟซบุ๊ก Thanapol Eawsakul ของ ธนพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ที่โพสต์ข้อความในช่วงเวลาเดียวกันว่า “สถานการณ์ที่รัฐสภา ตอนนี้ 90% มีความเป็นไปได้ที่ ส.ว.จากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร จะโหวตคว่ำร่างแก้ไข รธน. ทุกญัตติ ทุกมาตรา”
ทั้งนี้ 6 ญัตติ ที่จะมีโหวดกันเย็นนี้ ประกอบไปด้วย
- ญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย เสนอแก้ไข ม.256 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร. แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้ง และจะไม่แก้ไข หมวด 1 – หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 120 วัน
- ญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล เสนอแก้ไข ม.256 เปิดทางตั้ง ส.ส.ร.แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่สัดส่วนมาจากการเลือกตั้ง 150 คน และแต่งตั้ง 50 คน โดยไม่แก้ไข หมวด 1- หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 240 วัน
- ญัตติที่พรรคเพื่อไทยเสนอเพิ่ม 4 ญัตติ คือ ญัตติ 1 แก้ไข ม.272 ตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ และแก้ไข ม.159 ปิดทางเลือกนายกฯ คนนอก ,ญัตติ 2 แก้ไข ม.270 และ ม.271 ตัดอำนาจ ส.ว.ติดตามการปฏิรูป ,ญัตติ 3 แก้ไข ม.279 ยกเลิกคำสั่ง-ประกาศ คสช. และญัตติ 4 แก้ไขระบบเลือกตั้งโดยให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบรัฐธรรมนูญ ปี 2540