ทส.ลงนาม MOU กับผู้ให้บริการ ขอความร่วมมือ ให้ผู้บริโภคเลือก “ขอรับช้อน-ส้อม” หรือ “ถุงซอส” สนับสนุนภาชนะชีวภาพ และกลไกทางภาษี
แม้ประเทศไทยจะสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 จนไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ แต่ดูเหมือนว่าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยเฉพาะธุรกิจส่งอาหาร (Food Delivery) จะยังไม่มีแนวทางที่ควบคุมได้อย่างเป็นรูปธรรม ปัจจัยสำคัญมาจากการผลักดันให้เกิดการลดการใช้ยังเป็นแบบต่างคนต่างทำและเน้นการรณรงค์ ขณะที่บรรจุภัณฑ์จากชีวภาพก็ยังไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สำรวจปริมาณการใช้พลาสติกในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จาก 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร พบเพิ่มขึ้น 1,000 ตันต่อวัน ขณะที่ธุรกิจ Food Delivery และบริการจัดส่งพัสดุประเมินว่า เติบโตกว่าปี 2562 ถึง 100-200 เท่าตัว
เมื่อสถานสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ “การลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากการบริการ Food Delivery” กับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561–2573
โดยเบื้องต้นจะยังเป็นกลไกการขอความร่วมมือ โดยผู้ให้บริการจะให้ผู้บริโภคเลือกในช่องขอรับช้อน-ส้อม หรือถุงซอส แทนที่จากเดิมจะให้ทันทีเมื่อกดสั่งอาหาร ซึ่งวิธีนี้ก็จะช่วยลดปริมาณพลาสติกที่เหลือทิ้งเกินความจำเป็นลงได้ สำหรับร้านอาหาร ที่เข้าร่วมกับ Food Delivery ทางผู้ให้บริการจะเข้าไปสนับสนุนด้านภาชนะชีวภาพ หรือกลไกทางภาษีสำหรับร้านที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายตามธรรมชาติอยู่แล้ว เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดใช้พลาสติก
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ยังเป็นเพียงการขอความร่วมมือซึ่งต้องใช้เวลา เพราะปัจจุบันราคาของบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ มีราคาสูงกว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติก 1-2 เท่าตัว โดยจะพยายามหามาตรการในการสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล่านี้เพื่อให้มีราคาต้นทุนที่ต่ำลง ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ขณะเดียวกันพลาสติกที่ยังจำเป็นต้องใช้ ก็จะต้องหาทางในการจัดการขยะให้ได้มากที่สุด
“ต้องขอเรียนว่าบรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้นั้นยังมีต้นทุนที่อาจจะสูงกว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั่วไป แต่ว่าในนามของรัฐบาลเราก็จะเร่งหามาตรการที่จะช่วยสนับสนุนรายการผลิตให้มีราคาที่ถูกลงลง แต่สิ่งที่สำคัญคือความตระหนัก ความตื่นตัวของพี่น้องประชาชน คงจะเอาโควิด-19 มาอ้างตลอดไปไม่ได้ ต้องช่วยกันแก้ปัญหาทุกภาคส่วน”
ขณะที่โรดแมปการจัดการขยะพลาสติกภายในประเทศ เริ่มเห็นการเดินหน้า แต่สำหรับความกังวลว่าจะมีการต่อโควตานำเข้าขยะพลาสติกที่กำลังจะหมดลงในเดือนนี้หรือไม่ หลังมีความพยายามให้เหตุผลจากฝั่งภาคอุตสาหกรรมรีไซเคิลเพื่อต่อโควต้าออกไปก่อน
แต่เมื่อไม่สามารถส่งข้อมูลความจำเป็นในการขอนำเข้าได้ทัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่า จะยังไม่มีการต่ออายุการนำเข้าขยะพลาสติกออกไป แต่ก็เปิดช่องพร้อมพิจารณา หากมีข้อมมูลที่ชัดเจน