เปิดข้อมูล ผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่ในภาวะเนือยนิ่งหลังโควิด-19 และมีความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจ นักการเมือง ยัน ผลักดัน พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ
1 ตุลาคม ของทุกปี เป็น วันผู้สูงอายุสากล หรือ International Day of Older Persons ตามข้อกำหนดขององค์การสหประชาชาติ เพื่อส่งเสริมสิทธิ และส่งเสริมแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เครือข่ายพลังผู้สูงวัย จึงจัดกิจกรรม วันผู้สูงอายุสากล ปี 2563 เพื่อชวนสังคมคิดถึง “ชีวิตวิถีใหม่ ในสังคมสูงอายุ”
เครือข่ายพลังผู้สูงวัย และภาคีทั้ง 13 องค์กร จัดกิจกรรม “วันผู้สุงอายุสากล 2563” หรือ “International Day of Older Persons” เพื่อแสดงถึงคุณค่าของผู้สุงอายุ ที่เป็นผู้ขับเคลื่อนสังคมมาก่อน สำหรับปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสังคมสูงวัย” พร้อมแสดงนิทรรศการความรู้ด้านผู้สูงอายุ การแสดงของผู้สูงอายุ กิจกรรมการออกกำลังกาย และกระบวนการสร้างเสริมสุขภาวะทางใจ รวมถึงงานบริการด้านสุขภาพจากภาคส่วนต่าง ๆ
ช่วงการเสวนา มีการชวนให้ตัวแทนผู้สูงอายุ ตัวแทนภาครัฐ และนักการเมือง สะท้อนปัญหาและแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดย ปรินทร์พร พิสุทธิ์ธนบวร ประธานชมรมผู้สูงอายุเต้าเต๋อซิ่นซี ศูนย์กีฬาบางขุนเทียน กล่าวว่า ผู้สูงอายุมีปัญหาด้านสุขภาพไม่ใช่แค่สังขารที่เสื่อมตามกาลเวลา แต่เนื่องจากขาดแรงจูงใจในการออกกำลังกาย เช่น ไม่มีผู้นำออกกำลังกาย เพราะผู้สูงอายุต้องการแรงบันดาลใจ ต้องการต้นแบบ และต้องการสังคมเพื่อทำในสิ่งเดียวกัน ดังนั้นหากชุมชนไหนไม่มีผู้นำออกกำลังกาย ผู้สูงอายุก็จะขาดการส่งเสริมด้านสุขภาพ
“อย่างถ้ามีคนนำเต้นสนุก ๆ ผู้สูงอายุก็จะไปออกกำลังกาย แต่ถ้าไม่มีผู้นำเต้น หรือไม่มีใครชวน ผู้สูงอายุก็มักจะไม่ได้ออกกำลังกาย อยู่บ้านเฉย ๆ จึงจำเป็นที่ต้องมีการสร้างพื้นที่และส่งเสริมให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายในระดับชุมชน ในเชิงพื้นที่ชุมชนอาศัย”
สอดคล้องกับ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ระบุว่า เดิมทีผู้สูงอายุมักจะมีภาวะเนือยนิ่งเนื่องจากใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับสมาร์ตโฟนและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกันเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้ผู้สูงอายุขาดโอกาสที่จะเข้าสังคม เช่น ออกกำลังกาย หรือพบปะผู้คน แต่ข้อดีคือความเสี่ยงป่วยจากโรคทางเดินหายใจต่ำ
“การใช้สมาร์ตโฟน ดีตรงที่ทำให้กลับชิดกับลูกหลาน ได้คุยกัน ได้เห็นกับผ่านวิดีโอคอลมากขึ้น แต่ก็ทำให้เกิดภาวะเนือยนิ่ง ทั้งนี้ การที่ผู้สูงอายุมีการป้องกันโควิด-19 ด้วยการใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ และล้างมือบ่อย ๆ ทำให้จำนวนผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจน้อยลง ซึ่งในข้อเสียก็มีข้อดีอยู่”
ด้าน ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า การที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาแต่มีผู้สูงอายุ 1 ใน 4 ของประชากร ขณะที่วัยแรงงานก็มี 1 ใน 4 ของประชากรเช่นกัน เท่ากับว่าวัยที่จะขับเคลื่อนประเทศไม่ใช่ประชากรส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันผู้สูงอายุหลายคนก็มีกำลังที่จะสามารถทำงานได้ จึงต้องมีมาตรการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีลู่ทางที่จะสามารถทำงานได้ ประกอบกับนโยบายช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ
“ผู้สูงอายุหลายคนมีศักยภาพที่ยังสามารถทำงานได้ รัฐจึงต้องมีการออกนโยบายส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุ เช่นเดียวกับมาตรการส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ทั้งนี้ ก็ต้องส่งเสริมให้เกิดองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการเดินทางไปทำงานด้วย เช่น การออกแบบพื้นที่ให้ได้รับความสะดวก นอกจากนั้น ในขณะนี้ได้มีการผลักดัน พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีบำนาญอย่างเท่าเทียม เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ หรือ 60 ปีก็จะได้รับบำนาญ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”
สำหรับประเทศไทย กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุระดับสมบูรณ์ ในปี 2564 คือ มีประชากรสูงอายุสูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ และในปี 2574 จะเป็นสังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอด คือ มีประชากรผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 28 จึงถือได้ว่าในอนาคต ผู้สูงอายุจะเป็นบุคคลสำคัญและเป็นทุนทางสังคมที่จะเป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป