‘ผอ.สถาบันวิจัยประชากรฯ ม.มหิดล’ เสนอ ค่อย ๆ ขยับเกษียณ ทบทวนนิยามผู้สูงอายุ เสริมทักษะ ปรับสกิล สร้างผู้สูงวัยที่ทำงานได้จริง หวังช่วยพยุงแรงงาน ลดแรงกระแทกเศรษฐกิจไทยในอนาคต
เมื่อเร็ว ๆ นี้ รศ.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยกับ The Active ถึงข้อเสนอเรื่องการ ขยายอายุเกษียณ ในประเทศไทย ว่า เป็นโจทย์ใหญ่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป ท่ามกลางบริบทที่ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ และกำลังจะกลายเป็น สังคมสูงวัยระดับสุดยอด ภายใน 10 ปีข้างหน้า โดยมีผู้สูงอายุคิดเป็นเกือบ 30% ของประชากรทั้งหมด
“จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเปิดทางให้ผู้สูงอายุสามารถทำงานได้นานขึ้น เพื่อรักษากำลังแรงงานไว้ในระบบ เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคเศรษฐกิจ การผลิต ภาษี และระบบสวัสดิการทั้งประเทศ”
รศ.เฉลิมพล แจ่มจันทร์

ขยายเกษียณต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่กระโดดรวดเดียว
แม้แนวคิดเรื่องการขยายอายุเกษียณจะไม่ใช่เรื่องใหม่ และเคยมีข้อเสนอมาก่อนหน้านี้ แต่ยังติดขัดในแง่ข้อสรุปและแรงต้านจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะในระบบราชการ ซึ่งยังคงยึดเกษียณที่อายุ 60 ปี
รศ.เฉลิมพล ชี้ว่า ความท้าทายสำคัญอยู่ที่การปรับ ความคาดหวังในชีวิต ของผู้ที่ทำงานราชการมานาน เช่น ผู้ที่วางแผนเกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปี หากจะให้ทำงานต่ออาจต้องมีการเปลี่ยนตำแหน่งหรือรูปแบบการจ้าง และไม่จำเป็นต้องได้รับค่าตอบแทนเท่าเดิม
“เราไม่สามารถเปลี่ยนจาก 60 เป็น 65 ปีได้ทันที มันต้องขยับปีต่อปี เช่น ปีหน้าเป็น 61 ปี ปีถัดไป 62 ปี พร้อมปรับระบบค่าตอบแทน ตำแหน่ง และชั่วโมงการทำงานให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดแรงต้านจากในระบบเอง”
รศ.เฉลิมพล แจ่มจันทร์
เสนอทบทวน ‘นิยามผู้สูงอายุ’ จาก 60 เป็น 65 ปี
นอกจากการขยายเกษียณ รศ.เฉลิมพล ยังเสนอให้พิจารณาทบทวน นิยามผู้สูงอายุ ของประเทศไทยที่ยังคงกำหนดไว้ที่อายุ 60 ปี ทั้งที่หลายประเทศพัฒนาแล้วใช้อายุ 65 ปีเป็นเกณฑ์ ซึ่งการขยับนิยามนี้อาจช่วยปรับทัศนคติของสังคม และเอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงระบบเกษียณโดยรวม
“ถ้าเราปรับนิยามผู้สูงอายุจาก 60 เป็น 65 ปีได้ก่อน อาจช่วยลดแรงต้านและทำให้การขยายอายุเกษียณเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น เพราะมันกระทบต่อความรู้สึก ความเข้าใจ และมุมมองของทั้งสังคม”
รศ.เฉลิมพล แจ่มจันทร์
‘ประกันสังคม’ ก็ต้องปรับ–เลิกใช้ 55 ปีเป็นจุดอ้างอิง
ในส่วนของแรงงานนอกระบบราชการ รศ.เฉลิมพล อธิบายว่า แม้ภาคเอกชนจะไม่มีเกณฑ์เกษียณแบบตายตัว แต่ ระบบประกันสังคม กลับเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม โดยการให้สิทธิชราภาพที่อายุ 55 ปี กลายเป็นจุดอ้างอิงว่าพนักงานสามารถ เกษียณได้แล้ว ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเร่งให้แรงงานออกจากระบบเร็วเกินไป
“ต้องมีการขยับระบบประกันสังคมเช่นกัน แต่ไม่ใช่กระโดดรวดเดียวจาก 55 เป็น 60 ต้องค่อย ๆ ปรับ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความพร้อมของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง”
รศ.เฉลิมพล แจ่มจันทร์

หากไม่ปรับตอนนี้ ผลกระทบจะหนักในอนาคต
หากไม่เร่งปรับอายุเกษียณและระบบที่เกี่ยวข้อง รศ.เฉลิมพล เตือนว่า ประเทศไทยจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงในอนาคต เนื่องจากจำนวนแรงงานใหม่ลดลงจากภาวะเด็กเกิดน้อย ในขณะที่ผู้สูงอายุยังคงเกษียณเร็ว
“แรงงานจะหายไปสองทาง ทั้งจากฝั่งคนหนุ่มสาวที่ลดลง และฝั่งผู้สูงอายุที่เกษียณเร็ว ซึ่งสุดท้ายจะกระทบต่อเศรษฐกิจ การผลิต รายได้ภาษี และภาระด้านสวัสดิการ ที่ต้องใช้งบประมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการดูแลประชากรสูงวัย”
รศ.เฉลิมพล แจ่มจันทร์
เสริมทักษะ–ปรับสกิล สร้างผู้สูงวัยที่ทำงานได้จริง
อย่างไรก็ตาม รศ.เฉลิมพล ย้ำว่า การขยายอายุเกษียณเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะใหม่ (reskilling/upskilling) ให้ผู้สูงวัยสามารถทำงานได้จริง โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และ AI ซึ่งจะช่วยลดภาระทางกายและเพิ่ม productivity ให้แก่แรงงานสูงวัย
“ผู้สูงวัยรุ่นใหม่มีสุขภาพที่ดีขึ้น มีการศึกษาที่สูงขึ้น ซึ่งเอื้อต่อการทำงานต่อได้ แต่ต้องมีการเสริมทักษะที่เหมาะสม และต้องมีเวลาในการเตรียมตัวอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านนี้เกิดขึ้นได้จริง”
รศ.เฉลิมพล แจ่มจันทร์
ผอ.สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล ทิ้งท้ายว่า นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของอายุเกษียณ แต่เป็นเรื่องของการวางโครงสร้างใหม่ของระบบแรงงาน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถอยู่รอดได้ในสังคมสูงวัยอย่างมั่นคง