“เวลาเกิดปัญหา จะมีครูบางคนที่ออกมาปกป้องสถาบันการศึกษา ด้วยการบอกว่า ครูที่ดีก็มี แต่ทำไมเรากลับเพิกเฉยต่อเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกาย การมาร่วมแสดงออกครั้งนี้ เราต้องการให้ภาครัฐเห็นว่า มีกลุ่มครูที่มองเห็นปัญหานี้ แล้วอยากจะแก้ไขจริง ๆ”
ก่อนหน้านี้ เราอาจเห็นกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประเด็นต่าง ๆ รวมถึงการขอให้รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ยุติปัญหาการใช้ความรุนแรงในสถาบันการศึกษา
แต่วันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ (4 ต.ค. 2563) กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “ครูขอสอน” ที่มีทั้ง ครู และ บุคลากรทางการศึกษา ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการศึกษาให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น นัดหมายรวมตัวไปที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ เรียกร้องให้ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เร่งแก้ปัญหาและสร้างให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ทั้งทางร่างกายและความคิด
The Active พูดคุยกับ ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หนึ่งในเครือข่ายครูขอสอน หรือที่นักเรียนเรียกว่า “ครูทิว” เขาบอกกับเราว่า ที่ผ่านมาอาจจะเห็นกลุ่มนักเรียนที่ออกมาเคลื่อนไหว หรือไปจัดเวทีดีเบตที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ แต่ในครั้งนี้ หลังจากพบว่ามีเด็กนักเรียนถูกกระทำความรุนแรง แม้จะมีประกาศกระทรวงฯ ออกมาชัดเจนว่าห้ามลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง กลุ่มครูจึงต้องออกมาปกป้องนักเรียน และเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่การปกป้องสถาบันการศึกษาอย่างที่เคยผ่านมา
“เวลาเกิดปัญหา จะมีครูบางคนที่ออกมาปกป้องสถาบันการศึกษา ด้วยการบอกว่า ครูที่ดีก็มี แต่ทำไมเรากลับเพิกเฉยต่อเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกาย การมาร่วมแสดงออกครั้งนี้ เราต้องการให้ภาครัฐเห็นว่า มีกลุ่มครูที่มองเห็นปัญหานี้ แล้วอยากจะแก้ไขจริง ๆ”
ขณะที่ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่อยากเข้าร่วมแสดงออกในครั้งนี้ แต่อาจติดขัดด้วยกฎระเบียบ วินัย และจุดยืนของผู้บริหารของแต่ละสถาบันการศึกษา ครูทิว อธิบายว่า หากยึดตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ การออกมาปกป้องนักเรียนจากความรุนแรง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทหน้าที่ของครู
“การแสดงออกใด ๆ ก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะครั้งนี้ หรือการแสดงออกทางการเมือง เราทำในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เราไม่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งของเรา ปฎิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ตรงกันข้าม มันคือจรรยาบรรณ หรือวิชาชีพครูด้วยซ้ำ ที่ต้องออกมาทำอะไรแบบนี้ เพราะว่าเราไม่ควรเพิกเฉยกับปัญหาที่เกิดขึ้น กับการศึกษาหรือกับร่างกายจิตใจนักเรียน”
สำหรับกิจกรรมหน้ากระทรวงศึกษาธิการ จะเริ่มตั้งแต่ เวลา 17.30 น. โดยการร่วมกันเขียนข้อความ การแสดงจากครูและนักเรียน จุดเทียน อ่านแถลงการณ์แสดงเจตนารมณ์และข้อเรียกร้อง โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย ส่งเสียงถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
ขณะที่ในโลกออนไลน์ เวลานี้มีผู้ที่ใช้ Facebook ร่วมกันขึ้นข้อความบนรูปโปรไฟล์ว่า “โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย” Student Friendly โดยเฉพาะในแวดวงครู และบุคลากรทางการศึกษา