ชี้เพราะระบบ ผลักให้ครูไทย ต้องแก้ไขทุกอย่างด้วยตัวเอง ย้ำ ครูที่ลาออก ไม่ใช่อดทนไม่พอ
วันนี้ (13 ธ.ค. 67) เพจ ศธ.360 องศา เปิดตัวเพลง ลาออกทำไม เนื้อเพลงโดย วีระ แข็งกสิการ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อสะท้อนปัญหาการลาออกของครู พร้อมตั้งคำถามในโพสต์ว่า “ครูลาออก เป็นปรากฏการณ์ที่ควรศึกษาและหาทางแก้ไข อยู่ที่ระบบหรือบุคคล?”
โดยเนื้อเพลงเล่าถึงความรู้สึกของครูที่เผชิญกับความเหน็ดเหนื่อยจากภาระงาน เช่น งานเอกสาร งานสอน และความกดดันในชีวิตส่วนตัว เช่น ปัญหาการเงินและครอบครัว จนทำให้รู้สึกท้อแท้ อย่างไรก็ตาม เนื้อเพลงยังให้กำลังใจ หวังให้ครูมองโลกในแง่ดี อดทน และพิจารณาความดีงามของการเป็นครู เพื่อก้าวผ่านความยากลำบากแทนที่จะลาออกหรือยอมแพ้
“งานหนักเหมือนกันทุกคน เรียนรู้ฝึกฝนจดจำ มีงานก็ดี ดีกว่าไม่มีอะไรทำ …เป็นครูนะดีแค่ไหน จะลาออกไปทำไมกัน”
เนื้อเพลงตอนหนึ่งในเพลง ลาออกทำไม
อย่างไรก็ตาม เพลงนี้กลับจุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดีย โดยประชาชน และครูจำนวนมากชี้ว่า การแต่งเพลงไม่ใช่ทางแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทุกวันนี้ครูยังเผชิญกับภาระงานที่ล้นเกิน ระบบราชการที่ซับซ้อน และการประเมินผลที่ไร้ประสิทธิภาพ โดยปัญหาเหล่านี้เคยถูกสะท้อนผ่านแฮชแท็ก #ทําไมครูไทยอยากลาออก ที่ขึ้นเทรนด์ในปี 2564 ไปแล้ว พร้อมกับข้อเรียกร้องให้คืนบทบาท “ครูผู้สอน”
แก้ปัญหาครูลาออก ด้วยการบอกให้ครูอดทน
ครูทิว – ธนวรรธน์ สุวรรณปาล จากกลุ่ม ครูขอสอน ให้ความเห็นประเด็นนี้กับ The Active ว่า เพลงนี้เป็นการสะท้อนทัศนคติของบรรดาผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ ที่มีต่อครู ใคร ๆ ก็ตระหนักรู้ว่า ครูไทยนั้นทำงานหนัก ทั้งงานเอกสาร งานราชการ และภาระทางครอบครัว แต่กระทรวงฯ กลับเลือกผลิตซ้ำชุดวาทกรรมแบบเก่า ที่เชื่อว่า ครูเป็นอาชีพที่มีคุณค่า เป็นวิชาชีพชั้นสูง เมื่อเจอปัญหาต้องอดทนและเสียสละ จึงจะผ่านพ้นไปได
อย่างไรก็ตาม สภาพความเป็นจริงของวิชาชีพครูในปัจจุบันสะท้อนปัญหาที่ลึกซึ้งและซับซ้อนกว่าที่เพลงดังกล่าวนำเสนอ ครูไทยต้องเผชิญกับภาระงานที่เกินจำเป็นจากโครงการและนโยบายของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานอื่น ๆ โดยเฉพาะการรายงานผลโครงการที่เพิ่มภาระงานซ้ำซ้อนจนกระทบต่อเวลาสอนและการเตรียมการเรียนการสอนของครู
นอกจากนี้ การจัดการข้อมูลนักเรียนยังขาดการวางแผนและระบบที่เป็นเอกภาพ ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ขณะเดียวกัน ระบบการประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือนยังมีความไม่เป็นธรรม ซึ่งสร้างบรรยากาศการทำงานที่บั่นทอนกำลังใจของครูที่ตั้งใจทำงาน อีกทั้งระบบอำนาจนิยมและอาวุโสในโรงเรียนยังส่งผลให้ครูรุ่นใหม่ต้องแบกรับภาระงานที่เกินหน้าที่หรือต้องยอมจำนนต่อการใช้อำนาจในทางลบของผู้บริหาร รวมถึงปัญหาค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบัน
‘ครูลาออก’ ไม่ได้แปลว่า เขาอดทนไม่มากพอ
ครูทิว ยังสะท้อนว่า ปัญหาของครูไม่ได้เกิดจากความไม่อดทนหรือขาดการมองโลกในแง่ดี อย่างที่เพลงพยายามสื่อ แต่เป็นปัญหาเชิงระบบที่ต้องการการแก้ไขอย่างจริงจัง การเรียกร้องให้ครูอดทนและเสียสละเพียงอย่างเดียวโดยไม่จัดการปัญหาโครงสร้างของระบบการศึกษา ที่สำคัญคือ มันไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ขับเคลื่อนให้การศึกษาไทยไปข้างหน้า เด็กไทยและสังคมไทยก็จะจมอยู่กับระบบและแนวคิดแบบเดิมต่อไป
“เพลงนี้สะท้อนถึงวิธีคิดของผู้ใหญ่ได้ดี พวกเขายังเชื่อในวาทกรรม ‘เรือจ้าง’ อีกนัยหนึ่งมันเป็นการบอกว่า ครูที่ยอมลาออกไปจำนวนมาก เป็นเพราะพวกเขาไม่อดทนในงานนี้ ไม่เสียสละมากพอ แต่กลับไม่ฉายภาพปัญหาที่สำคัญที่สุดนั่นคือระบบราชการและโครงสร้างอำนาจในระบบการศึกษาไทย”
ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล
ครูทิว ย้ำว่า ตนไม่ปฏิเสธภาพที่ครูไทยต้องทำงานหนัก ครูไม่น้อยในระบบยอมทำงานหนัก แต่ผลจากงานที่ทำไม่ตกถึงการศึกษาหรือนักเรียน ยิ่งกว่านั้น ครูไทยเรียกร้องประเด็นนี้มาตั้งแต่ 2564 ผ่านแฮชแท็ก #ทําไมครูไทยอยากลาออก ครูจำนวนมากสะท้อนปัญหาภาระงานเอกสาร ธุรการ และระบบราชการที่ซับซ้อน รวมถึงการประเมินที่ไม่มีประสิทธิภาพ และรายได้ที่ไม่สอดคล้องกับงาน จนมาถึงช่วงสิ้นปี 2567 เหตุผลที่ครูอยากลาออก ก็ยังคงเป็นเรื่องเดิม และบทเพลงนี้ก็สะท้อนได้ชัดมากขึ้นว่าทำไมครูไทยถึงอดทนไม่ได้แล้วกับระบบการศึกษาไทย
ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศนโยบายเรือธงอย่าง ‘เรียนดี มีความสุข’ โดยมีเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการ ลดภาระครู-บุคลากรทางการศึกษา ผ่านนโยบายทั้ง 4 ด้าน ได้แก่
- ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดขั้นตอนมุ่งผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ปรับระบบการประเมินวิทยฐานะที่เน้นตามสภาพจริง ลดการทำเอกสาร-ขั้นตอนการประเมิน ไม่ซับซ้อนและเป็นธรรม
- ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น สามารถโยกย้ายกลับภูมิลำเนาด้วยความโปร่งใส ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง พร้อมสำรวจสถานการณ์ครูขาดแคลนในแต่ละพื้นที่ตามภูมิลำเนาเดิม
- แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้วยการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการวางแผนการใช้เงินและการเก็บออมเงิน น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีพ รวมทั้งเร่งช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ NPL โดยเร่งด่วน
- จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการ 1 ครู 1 Tablet สนับสนุนจัดหาอุปกรณ์ช่วยจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมโยงระบบออนไลน์รองรับการใช้งานให้เพียงพอกับจำนวนครูผู้สอน