เครือข่ายครู ลุยกระทรวงศึกษาธิการ ทวงพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน

ขอสถานศึกษาปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน ไม่เลือกปฏิบัติ ปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัว และคุ้มครองเสรีภาพแสดงออก

วันนี้ (4 ต.ค. 2563) เครือข่ายครูในนามกลุ่ม “ครูขอสอน” ทำกิจกรรม “ครูลุยกระทรวง ทวงพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน” ภายในกระทรวงศึกษาธิการ โดยร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์และแสดงจุดยืนให้กระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญต่อการออกมาตรการให้ทุกโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป้าหมายสำคัญ คือ โรงเรียนต้องเคารพสิทธิมนุษยชน เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามหลักคุณธรรมสากล

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือ “ครูทิว” ตัวแทนเครือข่ายครูขอสอน อ่านแถลงการณ์แสดงเจตนารมณ์ให้สถานศึกษาปฏิบัติตามหลักการของสิทธิมนุษยชน หลังเกิดกรณีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยมีข้อเสนอ 4 ข้อ และ 6 ข้อเรียกร้อง

สำหรับรายละเอียดแถลงการณ์เครือข่ายครูขอสอน คือ การขอแสดงเจตนารมณ์ให้สถานศึกษาปฏิบัติตามหลักการของสิทธิมนุษยชน

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันปรากฏกรณีการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา นำไปสู่ข้อถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวางถึงประเด็นต่าง ๆ ที่ขัดกับหลักการของสิทธิมนุษยชน เช่น การประจานนักเรียนเพื่อให้เกิดความอับอาย การเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมกับผู้ที่มีเพศวิถีแตกต่างจากเพศกำเนิด การคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ รวมไปถึงการข่มขู่คุกคามเด็กและลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ตลอดจนกระทั่งการวางกฎระเบียบของสถานศึกษาที่ขัดกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน และการปฏิบัติที่ขัดต่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา เครือข่ายครูขอสอนจึงขอแสดงเจตนารมณ์ให้สถานศึกษาปฏิบัติตามหลักการของสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยใช้วิธีการที่ธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนี้

1. ปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคมความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองมนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรี และสิทธิ ต่างมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

2. ปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัว บุคคลใดจะถูกแทรกแซงตามอำเภอใจในความเป็นส่วนตัว ครอบครัว ที่อยู่อาศัยหรือการสื่อสาร หรือจะถูกลบหลู่เกียรติยศ และชื่อเสียงไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการแทรกแซงสิทธิหรือการลบหลู่ดังกล่าวนั้น.

3. คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก ทุกคนมีสิทธิ์ในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออกรวมทั้งอิสรภาพในอันที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง แสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารตลอดจนข้อคิดผ่านสื่อใด โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน

4. การจัดการศึกษาควรมุ่งไปสู่การพัฒนาบุคลิกภาพ เสริมสร้างความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพขั้นพื้นฐาน และเคารพความแตกต่างระหว่างบุคคล.ทั้งนี้ สิทธิมนุษยชนนั้นจะถูกพรากไปไม่ได้ ไม่มีบทบัญญัติใดที่อาจตีความได้ว่ารัฐ กลุ่มคน หรือบุคคลใดมีสิทธิในการดำเนินกิจกรรมใด หรือการกระทำใด อันมุ่งต่อการทำลายสิทธิและเสรีภาพ

นอกจากนี้ พวกเขายังยื่น 6 ข้อเรียกร้อง ต่อกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษา คือ 1. ให้ รมว.ศธ. กำหนดนโยบายและกำกับให้สถานศึกษาปฏิบัติตามระเบียบฯ 2. ให้ รมว.ศธ. ดำเนินนโยบายจำนวนนักเรียนต่อห้องให้เหมาะสม 3. ให้ รมว.ศธ. ดำเนินนโยบาย วางมาตรการในการสรรหาและพัฒนาบุคลากรให้เหมาะสม 4. กมธ.การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ต้องพิจารณากฎหมายให้ยึดหลักสิทธิมนุษยชน และวางกลไกให้สอดคล้อง 5. ให้ กสม. เป็นผู้แทนนักเรียนในการตรวจสอบและให้คำแนะนำคุรุสภาในการกำหนดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นมาตรฐานและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และ 6. คณะกรรมการหรือสโมสรนิสิตนักศึกษา คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ทุกสถาบัน ต้องดำเนินกิจกรรมโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และยกเลิกกิจกรรมที่มีลักษณะการใช้อำนาจนิยม

โดยตลอดการทำกิจกรรมของเครือข่ายครูขอสอน มีข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึง สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมติดตามกิจกรรมดังกล่าว พร้อมจุดเทียนร่วมกับเครือข่ายครูด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม