มากที่สุด คือ ด้านทรัพยากรธรรมชาติฯ 13 ฉบับ ด้าน สภาพัฒน์ แจง ครม. ส.ส.-ส.ว. แนะ กิจกรรมตามแผนฯ ยังไม่เป็นการปฏิรูป ขาดความชัดเจน
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (6 ต.ค. 2563) มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (เดือนเมษายน – มิถุนายน 2563) ตามที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ
โดยรับทราบความคืบหน้ากิจกรรมสำคัญตามแผนการปฏิรูปประเทศ 12 ด้าน ได้แก่ ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข สื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สังคม พลังงาน ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการศึกษา
นอกจากนี้ ยังรับทราบสถานะกฎหมายภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ไม่มีกฎหมายแล้วเสร็จเพิ่มเติม โดยจากกฎหมายภายใต้แผนฯ จำนวน 216 ฉบับ มีกฎหมายแล้วเสร็จ จำนวน 48 ฉบับ จาก 13 ด้านการปฏิรูป โดยเป็นกฎหมายด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด จำนวน 13 ฉบับ รองลงมา คือ กฎหมายเศรษฐกิจ 8 ฉบับ และกฎหมายด้านสังคมและด้านกระบวนการยุติธรรมอย่างละ 5 ฉบับ ขณะที่กฎหมายที่ยังไม่มีความคืบหน้าได้แก่ ด้านการเมือง พลังงาน และการปฏิรูปตำรวจ
ทั้งนี้ ความคืบหน้าของกระบวนการจัดทำกฎหมาย (1) อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา จำนวน 1 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. . (ด้านกระบวนการยุติธรรม)
และ (2) ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จำนวน 2 ฉบับ คือ 1) ร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. . (ด้านกฎหมาย) (ปัจจุบันได้เสนอร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ต่อรัฐสภาแล้วเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2563)
ขณะที่การรายงานความคืบหน้าดังกล่าว สศช. ยังได้รายงานอุปสรรค ที่ทำให้การดำเนินการตามแผนการปฏิรูปฯ เป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจาก มีความพยายามรวบรวมข้อเสนอแนะในการรายงานผลและประเด็นคำถาม จากทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ในรายไตรมาส พบว่าสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่ากิจกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่เป็นการปฏิรูป และไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้ง อุปสรรคในการติดตามตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมบางประการจากหน่วยงานที่รับผิดชอบตามแผน อาจขาดความชัดเจนในการขับเคลื่อน ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ