มารค ตามไท นักวิชาการด้านการสร้างสันติภาพ ห่วง การแสดงอารมณ์เกลียดชังระหว่างมวลชน ระบุ “กินข้าวทีละคำ” ไม่จำเป็นต้องชนะคืนนี้
- กังวลเรื่องการแสดงอารมณ์ความเกลียดชังระหว่างมวลชน
- “สันติวิธีแบบอะไรก็ได้” ใช้ไม่ได้ เมื่อถึงจุดแตกหักเชิงคุณค่า
- กินข้าวทีละคำ การต่อสู้ระยะยาว ไม่จำเป็นต้องชนะคืนนี้
คือ สิ่งที่ รศ.ดร.มารค ตามไท นักวิชาการด้านการสร้างสันติภาพ มองว่า ความเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ มีความน่ากังวล เพราะอารมณ์คนในสังคมที่สะท้อนผ่านการใช้ข้อความแสดงออกถึงความเกลียดชังรุนแรง เช่น “เก็บขยะของชาติ” “แม้ผิดกฎหมายก็ยอมทำ” “จะตายก็ช่าง” คำเหล่านี้กระตุ้นอารมณ์ได้มาก
ส่วนเงื่อนไขความรุนแรง คือ มีมวลชนหลายฝ่าย แกนนำคุมไม่อยู่ แม้ไม่ปะทะกันระหว่างแกนนำ แต่มวลชนมีความเสี่ยงจะปะทะกันเองบริเวณรอบนอกการชุมนุม
รศ.ดร.มารค ระบุอีกว่า แม้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องการการปะทะ และยอมเปิดทางในบางจังหวะ เพราะหวังจะให้การเคลื่อนขบวนและการชุมนุมโดยสงบยุติลงได้เอง แต่น่าสนใจว่าบนความขัดแย้งมวลชน 2 ฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐจะวางตัวอย่างไร
ปัจจัยสำคัญ คือ การวางตัวของคู่ขัดแย้ง ซึ่งยอมรับว่า สิ่งที่เห็นเวลานี้ คือ มีบางกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่บนฐานของความเกลียดชัง แบ่งฝ่าย ไม่ใช่อุดมการณ์ทางการเมือง ขณะที่อีกฝ่ายอ้างอุดมการณ์ ทฤษฎีการปกครอง และหลักการความเท่าเทียม มีความเข้มข้นทางความคิด แต่ก็ต้องสร้างหลักสันติวิธีไว้กำกับด้วย เพราะเมื่อเจออารมณ์ที่รุนแรงของอีกฝ่าย อาจจะหลุดจากสันติวิธีได้
“มันไม่ใช่เวลาของ สันติวิธีแบบอะไรก็ได้ ที่ต้องยอมสละจุดยืนอันชอบธรรม สันติวิธีในบางกรณี ก็ยากที่จะประณีประนอมเมื่อถึงจุดแตกหักเชิงคุณค่า เพราะบทเรียนสันติวิธีที่หลีกเลี่ยงความรุนแรง จะผลักดันให้เจรจา แต่เมื่อเจรจาแล้วถูกทำลาย หรือถูกใช้ความรุนแรงกลับ จึงเป็นวิธีการที่ใช่ไม่ได้สำหรับความคิดของบางคน แต่ถ้าจะไม่ให้รุนแรงเกินไป ก็มีข้อคิดว่า การต่อสู้ระยะยาวไม่จำเป็นต้องชนะในคืนนี้ก็ได้…”