เรียกร้องรัฐคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน ขอทุกฝ่ายยุติการสร้างความเกลียดชัง และผลักไสคนที่เห็นต่างเป็นศัตรู
วันนี้ (17 ต.ค. 2563) หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ บริเวณแยกปทุมวันวานนี้ (16 ต.ค.) มีเครือข่ายภาคประชาชนหลายองค์กร ออกแถลงการณ์ประณามการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ สาระสำคัญระบุว่าเป็นการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ และยังไม่มีท่าทีในการใช้กำลังหรือความรุนแรง
The Active รวบรวมปฏิกริยาของเครือข่ายภาคประชาสังคม และภาคประชาชนที่แสดงความเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เผยแพร่แถลงการณ์ ที่มีเนื้อหาสำคัญ ระบุว่า จากการที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 และนำมาสู่การสลายการชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “คณะราษฎร” ที่บริเวณสี่แยกปทุมวันเมื่อคืนวันที่ 16 ต.ค. 2563 พวกเราในฐานะเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รู้สึกกังวลและไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมถึงนโยบายและวิธีการของรัฐบาลในการสลายการชุมนุม และการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมซึ่งส่วนมากเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน รวมถึงผู้หญิงและเด็กหญิงที่ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล
ในการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม รัฐบาลควรปฏิบัติตามแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะหลักการใช้การฉีดน้ำแรงดันสูง (Water Canon) ซึ่งการฉีดน้ำแรงดันสูงควรใช้เฉพาะในสถานการณ์ที่การชุมนุมกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสาธารณะอย่างร้ายแรง และมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะนำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส หรือการทำลายทรัพย์สินอย่างรุนแรงในวงกว้าง อีกทั้งการเล็งหัวฉีดน้ำแรงดันสูงไปที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อยู่ในระยะใกล้อาจจะทำให้ส่งผลกระทบต่อการมองเห็น หรือได้รับบาดเจ็บร้ายแรงอื่น ๆ การสลายการชุมนุมของรัฐบาลด้วยการใช้การฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี เมื่อคืนวันที่ 17 ต.ค. จึงไม่ได้สัดส่วนกับหลักการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมตามมาตรฐานสากล เนื่องจากผู้ชุมนุมไม่มีท่าทีในการต่อสู้ หรือใช้อาวุธที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงต่อสาธารณะหรือต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
เราขอเน้นย้ำว่าสิทธิในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย และรัฐไม่มีความชอบธรรมในการใช้วิธีปราบปรามโดยใช้ความรุนแรงต่อประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน
เรากังวลอย่างมากที่รัฐบาลไม่เห็นคุณค่าของการเจรจากับบรรดาผู้ชุมนุมเพื่อหาทางออกร่วมกันแทนการใช้วิธีการปราบปรามด้วยความรุนแรง ซึ่งอาจนำไปสู่การต่อต้านที่มากขึ้น
เราขอประณามการกระทำของรัฐบาล และเรียกร้องต่อองค์กร และหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งองค์กรอิสระ สถาบันตุลาการและผู้พิพากษา ในการยืนยันหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างสันติของประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน
สุดท้ายเราเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ยุติการจับกุมและควบคุมตัวประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนซึ่งใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างสันติ และเรียกร้องทุกฝ่ายให้ยุติการสร้างความเกลียดชัง และผลักไสคนที่เห็นต่างเป็นศัตรู เรามีความหวังว่าสังคมไทยจะมองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลทุกคน มีความอดทด อดกลั้นและรักษาความเป็นสังคมที่เคารพในความแตกต่างหลากหลายของกันและกัน
สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ เผยแพร่แถลงการณ์ CAP เรียกร้องปล่อยตัวผู้ถูกคุมตัวจากการชุมนุม
ระบุว่า CAP เป็นการรวมตัวกันขององค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้/ปาตานี เพื่อรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้ง
CAP ยังมุ่งเน้นแนวทางการสร้างสันติภาพชายแดนภาคใต้/ปาตานีด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตามหลักการประชาธิปไตยและเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนสากล โดยถือว่าเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนที่แสดงออกมาด้วยเสรีอย่างไม่มีการกดดันจากบรรยากาศของความรุนแรงท่ามกลางการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในการควบคุมสถานการณ์สงครามอสมมาตรโดยรัฐ คือที่สิ้นสุดของสันติภาพที่ยึดโยงกับความต้องการของประชาชน
เราขอแสดงจุดยืนว่า การแสดงความคิดเห็น การชุมนุมของเยาวชนคนรุ่นใหม่ และประชาชนเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงมี รัฐบาลไทยควรที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้มีการอภิปรายและแลกเปลี่ยนโดยปราศจากการปิดกั้น การคุกคาม ข่มขู่
เราขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐไทยที่ควบคุมตัวผู้ปราศรัย และผู้ร่วมชุมนุมในระหว่างวันที่ 13-16 ต.ค. 2563 ทำการปล่อยตัวทุกคนโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อลดความร้อนแรงของสถานการณ์ที่กำลังตึงเครียด ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงตามมา และขอเสนอให้มีการเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยน และรับข้อเสนอไปพิจารณาเพื่อนำไปสู่การเจรจาหาทางออกของสังคม
สภาประชาสังคมชายแดนใต้ ออกแถลงการณ์ หยุดการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ด้วยสถานการณ์การสลายการชุมนุมของ เยาวชน นักเรียน นักศึกษาและประชาชน ณ สี่แยกปทุมวัน เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 16 ต.ค. 2563 โดยใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารแก๊สน้ำตา และกองกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการสลายการชุมนุม ดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมได้รับอันตรายจากสารเคมีของวัสดุอุปกรณ์ข้างต้น โดยการอ้างอำนาจความชอบธรรมจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรีจึงให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร นั้น
สภาประชาสังคมชายแดนใต้ มีความห่วงใย และกังวลต่อความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีตามรัฐธรรมนูณ จึงขอเรียกร้อง
- ขอให้ยุติการใช้ความรุนแรงโดยอำนาจรัฐบาลที่กระทำเกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาและประชาชน บริเวณสี่แยกปทุมวัน ซึ่งชุมนุมโดยสันติวิธี และใช้เสรีภาพของประชาชน ในการแสดงความคิดเห็นภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
- ขอเรียกร้องให้รัฐบาลรับฟังและพิจารณาข้อเรียกร้องของ นักเรียน นักศึกษา และประชาชน และหาทางออกโดยสันติวิธี เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตทางการเมือง และวิกฤตเศรษฐกิจ
- ขอให้รัฐบาลเป็นผู้ปกป้อง คุ้มครองและไม่ละเมิด สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตามรัฐธรรมนูณทุกกรณี
สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา หรือ LDI ออกแถลงการณ์ ขอให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม และนำหลักนิติธรรมสร้างความเป็นธรรมและสมานฉันท์สู่สังคมไทย พร้อมแนบรายชื่อท้ายแถลงการณ์ จำนวน 173 คน
เนื้อหาแถลงการณ์ ระบุ พวกเรา คือ ประชาชนที่มีทั้งข้าราชการ นักวิชาการ นักธุรกิจเอกชน สื่อมวลชน และประชาสังคม ที่ต่างมีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาระบบนิติธรรม (Rule of Law) ให้เป็นหลักที่มั่นคงต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ บนพื้นฐานสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และการพัฒนาที่ยั่งยืน
พวกเราได้ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มประชาชนซึ่งประกอบด้วยนักเรียน นักศึกษา ประชาชนในนาม “คณะราษฎร 2563” ที่เรียกร้องให้ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตย พวกเราเห็นว่า ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจากระบบที่ขาดความเป็นนิติรัฐและนิติธรรม การแก้ไขวิกฤติต้องอาศัยพลังทางปัญญาและความร่วมมือกันของสังคม จึงหวังตลอดมาว่า รัฐบาลจะเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน และหาทางออกของปัญหาอย่างสันติ และเป็นไปตามหลักนิติธรรม เพื่อสังคมไทยผ่านพ้นวิกฤติการณ์ความขัดแย้งนี้ไปได้
พวกเราเห็นว่า การชุมนุมของกลุ่ม คณะราษฎร 2563 ยังเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างสันติตามรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลกลับปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา
และแล้วความรุนแรงก็ได้เกิดขึ้น จากการที่รัฐบาลได้ดำเนินการสลายการชุมนุมในค่ำวันที่ 16 ตุลาคม ทั้งที่ผู้ชุมนุมซึ่งมีทั้งนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่ได้ชุมนุมอย่างสันติ ปราศจากอาวุธ และเป็นการชุมนุมชั่วคราว ด้วยการฉีดน้ำผสมสารเคมีแรงดันสูง น้ำผสมแก๊สน้ำตา และใช้กำลังตำรวจเข้าปะทะ ผลักดัน ทำให้ประชาชนบางส่วนได้รับบาดเจ็บ การกระทำดังกล่าวนอกจากจะไม่สามารถยุติความขัดแย้งได้แล้ว กลับจะยิ่งสร้างความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างร้าวลึก
พวกเราเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลเป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากล หลักสิทธิเสรีภาพที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้จะเป็นการอ้างว่าทำตามกฎหมาย แต่กลับจะยิ่งทำลายหลักนิติธรรมของสังคมไทย ที่การใช้กฏหมายและการใช้อำนาจของรัฐต้องอยู่บนหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน
พวกเราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดังนี้
- ยุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนที่ชุมนุมโดยสันติโดยทันที และให้หลักประกันว่ารัฐบาลจะไม่ใช้ความรุนแรงเช่นนี้อีก
- รัฐบาลควรยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยกลับไปใช้หลักกฏหมายที่มีอยู่ในการจัดการการชุมนุม ซึ่งจะเป็นการเปิดให้ประชาชนต่อสู้สิทธิ เสรีภาพทางกฎหมายได้
- รัฐบาลควรปล่อยผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมทั้งหมด เพื่อเป็นการเริ่มต้นกระบวนการจัดการความขัดแย้งอย่างสันติ
- รัฐบาลควรเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างจริงจัง และสร้างกระบวนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม และอยู่บนหลักประชาธิปไตยและนิติธรรมอย่างแท้จริง
- สมาชิกรัฐสภาควรร่วมกันเข้าชื่อเสนอญัตติให้มีการเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อถกแถลงหาทางออกให้สังคมโดยด่วน
พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะดำเนินบนหลักสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรมที่เป็นหลักการพื้นฐานในรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งของสังคมไทยในครั้งนี้ไปสู่ความสังคมประชาธิปไตยอย่างสันติและยั่งยืน
เครือข่ายสลัม 4 ภาค ออกแถลงการณ์ ประณามการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม
เนื้อหาแถลงการณ์ ระบุว่า จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา บริเวณแยกปทุมวันและพื้นที่ใกล้เคียง เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา แม้การชุมนุมจะเป็นไปอย่างสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ พร้อมแจ้งยุติการชุมนุมต่อเจ้าหน้าที่ภายในเวลา 22.00 น. อย่างชัดเจน แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่ฟังเหตุผลกลุ่มผู้ชุมนุม อ้างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร เข้ากดดัน เข้ายึดพื้นที่ พร้อมใช้น้ำผสมสีฉีดเข้าสลายผู้ชุมนุม ไล่จับกุมบุคคล โดยอ้างว่าเป็นผู้กระทำผิดประกาศดังกล่าวนั้น
เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ขอแถลงท่าทีและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
- เราขอประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้กองกำลังเข้าสลายการชุมนุมของเด็กนักเรียน ลูกหลาน เยาวชนอันเป็นอนาคตของชาติ และเป็นการชุมนุมอันสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ เป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม
- เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร โดยทันที และยุติการจับกุมกุมผู้ชุมนุม พร้อมทั้งปล่อยแกนนำคณะราษฎร 2563
- เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลปฎิบัติตามข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชน ในทันที เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายความตึงเครียดลง
ท้ายที่สุด เราจะเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับภาคประชาชน องค์กรต่าง ๆ ทุกเครือข่าย เพื่อผลักดันให้รัฐบาลได้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าวโดยเร็ว อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามข้อเรียกร้อง