คณบดี เศรษฐศาสตร์ มธ. ระบุ แรงงานไทยไร้เงินออม-หนี้ท่วมหัว พบ หลังโควิด-19 คืนสู่ภาคเกษตรมากขึ้น แต่รายได้ต่อหัวต่ำ
เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2563 ผศ.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยกับ The Active กรณีสถานการณ์แรงงานที่มีปัญหาสะสมมาก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด ทำให้ประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยว อย่างประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาด
ผศ.ศุภชัย ระบุว่า กลางปี 2562 จีนและสหรัฐอเมริกาทำสงครามการค้า มีผลกระทบต่อ Global supply chain แต่เมื่อถึงปี 2563 เกิดโควิด-19 ระบาด ซึ่งประเทศไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยเงื่อนไขหลายอย่าง มากที่สุด คือ ปัญหาด้านโครงสร้างประชากร ที่มีคนตายน้อยลง และคนเกิดน้อยลงด้วย
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงานจำนวน 38 ล้านคน ในจำนวนนี้ 37 ล้านคนมีงานทำ แต่ก็มีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้แรงงานบางกลุ่มทำงานไม่ตรงสาย นอกจากนี้ ยังมีอีก 18 ล้านคน ไม่ได้อยู่ในวัยแรงงาน เป็นเด็ก คนชรา และคนพิการ รวมทั้งสังคมสูงวัยที่กำลังเพิ่มมากขึ้น ขณะที่แรงงานส่วนใหญ่ไม่มีเงินออมและมีหนี้สินมาก ทำให้ไทยต้องเตรียมพร้อมหามาตรการรองรับ ทั้งในเรื่องของรัฐสวัสดิการ และระบบการออมแบบใหม่
“เวลาเราบอกว่าโควิดกระทบอะไรบ้าง เช่น กระทบภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ต้องมองในระดับ Supply chain (ห่วงโซ่อุปทาน) ซึ่งตรงนี้ผมเน้นมาก เพราะ Supply chain ในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะรวมไปถึงโรงแรม ร้านอาหาร ค้าปลีก ขนส่ง กระทบทั้งหมด ขณะเดียวกัน โควิดก็กระทบเรื่องการส่งออก ก็จะมี Supply chain อีกปัจจัยหนึ่ง คือ supply chain disruption ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเก่า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เหล่านี้รับผลกระทบอยู่แล้วเต็ม ๆ จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป”
ILO คาดไทยมีผู้ว่างงานเพิ่ม 6-7%
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ระบุอีกว่า เมื่อดูจากสถานการณ์แล้ว หากคนไทยตกงานจะมุ่งไปที่ภาคการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ และเป็นประจำทุกปี ประเทศไทยมีผู้ว่างงานอยู่ที่ 1% แต่หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ตัวเลขกระโดดพุ่งไป องค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO (International Labour Organization) คาดว่าในกรณีที่เลวร้ายที่สุด จะมีผู้ว่างงานมากถึง 6-7%
“หากวิเคราะห์ดูว่าทำไมประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง จะพบว่าภาคอุตสาหกรรม ทำรายได้ต่อหัวประชากรสูงสุด รองลงมา คือ ภาคบริการ ในขณะที่ภาคการเกษตรนั้น มีรายได้ต่อหัวต่ำสุด แต่ว่ามีแรงงานอยู่ในภาคนี้มากที่สุด ดังนั้น จะทำอย่างไรให้การจ้างงานในภาคเกษตร มีมูลค่าสูงขึ้น”
เสนอรวมบริการสุขภาพประกันสังคม-บัตรทอง
ผศ.ศุภชัย กล่าวอีกว่า ถ้ามาดูในด้านของความคุ้มครอง จะพบว่าแรงงานในระบบตามกฎหมายประกันสังคมตามมาตรา 33, 39 และ 40 ก็มีอยู่ส่วนหนึ่ง แต่อีก 20 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่รับการคุ้มครองในอนาคต เช่น เงินบำเหน็จบำนาญ ทั้งยังมีปัญหาเรื่องหนี้สินและการออมควบคู่กันไป ซึ่งในส่วนของระบบประกันสังคม ช่วงที่ผ่านมามีคนตกงานจำนวนมาก เคยมีข้อเสนอว่าให้รวมเรื่องของการบริการสุขภาพไปใช้กับบัตรทอง แล้วเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายให้สมทบกองทุนประกันสังคมเก็บไว้เป็นเงินบำนาญ
ส่วนแนวโน้มการจ้างงานในอนาคต จะเป็นรูปแบบของพาร์ทไทม์มากขึ้น (งานชั่วคราว) คนหนึ่งทำงานหลายอย่าง ซึ่งตรงนี้จะทำให้ต้องมาทบทวนเรื่องสวัสดิการ ที่ไม่รองรับและการปรับตัวของระบบประกันสังคม
กลุ่มแรงงานที่น่าเป็นที่สุด คือ กลุ่มเด็กจบใหม่ ที่มีอยู่ 4 แสนคนต่อปี ซึ่งใช้เวลางานหางานมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ กลุ่มนี้น่าเป็นห่วงมาก ส่วนนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสามารถสร้างตำแหน่งงานเพื่อรองรับได้ถึง 70,000 อัตรา ซึ่งเงินจ้างก็เป็บงบประมาณจัดสรรจากรัฐอยู่แล้ว
ชี้ เงื่อนไขการจ้างงาน ขึ้นอยู่กับการเปิดประเทศ
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึงกรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประเมินสถานการณ์และแนวโน้มการจ้างงานดีขึ้นว่า เป็นการประเมินในแง่ดี ซึ่งอาจจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เพราะว่าหลังจากคลายล็อกดาวน์ ทำให้สถานการณ์การจ้างงานดีขึ้น แต่ยังคงต้องบริหารความเสี่ยง
“ความเสี่ยงใหญ่ ยังคงเป็นเรื่องของความท้าทายในการเข้าตลาดได้ไม่เต็มที่จากบัณฑิตจบใหม่ ที่จะเข้าสู่ระบบแรงงานตลาดแรงงาน และยังต้องหาจุดสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับสาธารณสุขให้ได้ เงื่อนไขสำคัญของการจ้างงานยังอยู่ที่การเปิดประเทศ จึงมีข้อเสนอว่าเป็นไปได้ไหมที่จะรับผู้ป่วยต่างชาติมารับการรักษาในประเทศไทยและมูลค่าสูง”