ก้าวไกล ซัดนายกฯ ปัดตก ร่างฯ ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร

ย้ำ ปิดช่องสภาฯ พิจารณา ปม ตีตกร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหาร เสนอโดยอดีตอนาคตใหม่ โรม ชี้ สะท้อนปัญหาฝ่ายบริหารแทรกแซงนิติบัญญัติ

วันนี้ (9 พ.ย. 2563) รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย ธีรัจชัย พันธุมาศ และณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล เเถลงข่าวกรณีสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือเเจ้งว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธรับรองร่างพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. …. ที่เสนอโดย พลโท พงศกร รอดชมภู อดีต ส.ส.อดีตพรรคอนาคตใหม่ และคณะ

รังสิมันต์ ระบุว่า การไม่ให้คำรับรองดังกล่าว ที่อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 133 ที่กำหนดให้ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติซึ่งเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน จะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคํารับรองของนายกรัฐมนตรี เมื่อ พลเอก ประยุทธ์ ไม่ให้คำรับรอง ซึ่งถูกพิจารณาว่าเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน จึงส่งผลให้ไม่สามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่สภาได้

“พลเอก ประยุทธ์ เป็นบุคคลหนึ่งที่แสดงการคัดค้านนโยบายยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารอย่างชัดแจ้งมาโดยตลอด การที่ใช้อำนาจไม่ให้คำรับรองร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร โดยเปลี่ยนเป็นการรับสมัครโดยสมัครใจทั้งหมดนั้น จึงอาจเป็นการหยิบฉวยเอาอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญให้ไว้เพื่อพิจารณาถึงผลกระทบต่อการเงินการคลังของประเทศ มาใช้เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ทางการเมืองส่วนตน นั่นคือการขัดขวางไม่ให้มีการยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร”

เขายังระบุอีกว่า กรณีที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญมาตรา 133 ที่เปิดช่องให้ฝ่ายบริหารสามารถเข้ามาแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติได้ตั้งแต่ในชั้นต้นของการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากบรรดาร่างพระราชบัญญัติทั้งหลายที่เสนอเข้ามาสู่สภานั้น หากเป็นร่างพระราชบัญญัติที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการบริหารราชการแผ่นดินอย่างมีนัยสำคัญแล้ว ก็ย่อมต้องเกี่ยวข้องกับการเงินไม่มากก็น้อย ฉะนั้นแล้วการมีอยู่ของมาตราดังกล่าวจะทำให้นายกรัฐมนตรีสามารถขัดขวางร่างพระราชบัญญัติที่ตนไม่ต้องการได้ตั้งแต่ก่อนที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นจะเข้าสู่สภาเสียอีก และส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติในการตรากฎหมายเพื่อถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย

“มีปัญหาเกิดขึ้น 3 ประการ คือ ปัญหาเเรก จุดมุ่งหมายในกฎหมายข้อนี้ เพื่อให้นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณารับรองในฐานะผู้บริหารประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการเงินการคลัง
และตามหนังสือที่พลเอก ประยุทธ์ ยื่นกลับมานั้นไม่ปรากฏถึงการส่งผลกระทบต่อการเงิน การคลังของประเทศอย่างไร เมื่อนายกฯ ไม่ให้การรับรอง เป็นการตัดโอกาสสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาต่อสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง ซึ่งการผลักดันกฎหมายไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล เป็นที่หน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกมา มีสิทธิในการพิจารณากฎหมาย ที่เคยให้สัญญาไว้ก่อนการเลือกตั้งในนโยบายของพรรคการเมือง ต่อประชาชน”

ด้าน ธีรัจชัย กล่าวว่า เนื้อหาที่เสนอไป คือให้มีการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร เเล้วเข้าไปเป็นทหารอาชีพ จะไม่มีการถูกบังคับ เเละกองทัพจะมีขนาดเล็กลง มีทหารที่มีความใจรับใช้ชาติ การที่มีความเต็มใจรับใช้ชาติจริง ๆ เป็นทหารจริง ๆ กองทัพจะเข้มเเข็งเเละเล็กลง มากกว่าทหารที่ถูกบังคับ เเละไม่ได้ใช้ตามภารกิจ ซึ่งในร่างกฎหมายดังกล่าว ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ความรู้ความสามารถมีการเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพทหาร สามารถมียศทางทหารได้ถึงพันโท มีสวัสดิการที่ดี

“เป็นการปิดโอกาสในการเสนอกฎหมายของฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นการโหมฟืนเข้าสู่กองไฟ ในการตัดโอกาสไม่ให้มีการปฏิรูปกองทัพ”

ขณะที่ ณัฐชา ระบุว่า เตรียมหารือกับที่ประชุม ส.ส.พรรคก้าวไกล ในการตั้งกระทู้ถามสด ต่อนายกรัฐมนตรี กรณีพลทหารแขวนคอตาย ที่ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เเละให้กองทัพชี้เเจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active