แนะรัฐบาลไทยหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง ตามหลัก UN ยันไม่ควรใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมที่ปลอดความรุนแรง
โฆษกเลขา UN ห่วงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย
วันนี้ (19 พ.ย. 2563) เว็บไซต์ Human Rights Watch เผยแพร่ข่าวโฆษกของนายอังตอนียู กูแตรึช เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ แสดงความกังวลต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย หลังเกิดเหตุสลายการชุมนุมด้านหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563
โดยนายอังตอนียู ระบุว่า “…นับเป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่เห็นการใช้อาวุธที่อาจไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่องกับผู้ประท้วงอย่างสงบ รวมทั้งการใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง สำคัญอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง และประกันให้มีการคุ้มครองอย่างเต็มที่ต่อประชาชนทุกคนในประเทศไทย ซึ่งใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของการประท้วงอย่างสงบ…”
ขณะที่นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า “ทางการไทยควรรับฟังความเห็นของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และยุติการใช้กำลังโดยไม่จำเป็นต่อผู้ประท้วง พร้อมกับขัดขวางไม่ให้กลุ่มใดก่อความรุนแรง จนทำให้ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ต่อไปได้”
ทั้งยังระบุด้วยว่า “ทางการไทยควรสอบสวนเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยพลันและอย่างไม่ลำเอียง รวมทั้งข้อกล่าวหาว่าผู้ประท้วงฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลได้ยิงปืน และให้ดำเนินคดีกับผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการปฏิบัติมิชอบ โดยไม่คำนึงว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มการเมืองหรือมีตำแหน่งทางการเมืองระดับใด”
เว็บไซต์ Human Rights Watch กล่าวด้วยว่า จากการสังเกตการณ์ของฮิวแมนไรท์วอทช์ในวันที่มีการสลายการชุมนุม (17 พ.ย. 2563) เห็นตำรวจหน่วยปราบจลาจลใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมด้วยสีน้ำเงิน และดูเหมือนจะมีการผสมสารเคมีจากแก๊สน้ำตา รวมทั้งการยิงกระสุนแก๊สน้ำตาและการฉีดสเปรย์พริก เพื่อสลายการชุมนุมของผู้ประท้วงหลายพันคน ซึ่งหลายคนเป็นนักศึกษา โดยการสลายการชุมนุมดำเนินต่อไปจนการประท้วงยุติลงเมื่อเวลาประมาณสามทุ่ม
Human Rights Watch เสนอด้วยว่า รัฐบาลไทยควรสอบสวนทุกแง่มุมของเหตุความรุนแรงในวันที่ 17 พ.ย. อย่างโปร่งใสและไม่ลำเอียง รวมถึงการสอบสวนถึงพฤติการณ์และกระบวนการตัดสินใจ อันเป็นเหตุให้ตำรวจใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาอย่างกว้างขวางต่อผู้ประท้วงอย่างสงบ และรัฐบาลไทยควรประกันว่า หลักเกณฑ์การใช้กำลังของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และมีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดในทุกสถานการณ์
เปิดหลักการ UN ไม่ควรใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมที่ปลอดความรุนแรง
ตาม “หลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติ” ว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และ “มาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” อื่นๆ ระบุว่า หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอาจใช้กำลังได้ เฉพาะเท่าที่จำเป็นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์การควบคุมฝูงชนที่ชอบด้วยกฎหมาย
ขณะที่ “แนวปฏิบัติขององค์การสหประชาชาติ ปี 2563 ว่าด้วยการใช้อาวุธที่รุนแรงไม่ถึงขั้นชีวิตเพื่อบังคับใช้กฎหมาย” ระบุว่า ปืนฉีดน้ำแรงดันสูงควรนำมาใช้เฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์ปั่นป่วนอย่างร้ายแรงต่อสาธารณะ กรณีที่มีแนวโน้มอย่างมากว่าจะเกิดการสูญเสียชีวิต การบาดเจ็บร้ายแรง หรือการทำลายทรัพย์สินอย่างกว้างขวาง
นอกจากนั้น ไม่ควรเล็งปืนฉีดน้ำแรงดันสูง “ไปที่เป้าหมายซึ่งเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในระยะใกล้ เนื่องจากมีความเสี่ยงจะทำให้เกิดการตาบอดอย่างถาวร หรืออาการบาดเจ็บที่รุนแรงน้อยกว่า กรณีที่บุคคลถูกกระแสน้ำฉีดใส่อย่างรุนแรง” สอดคล้องตามมาตรฐานระหว่างประเทศ จึงควรมีการใช้แก๊สน้ำตาเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายด้านกายภาพ และไม่ควรใช้เพื่อสลายการชุมนุมที่ปลอดจากความรุนแรง
ก่อนหน้านี้ (18 พ.ย. 2563) ได้มีคำชี้แจงจาก พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กรณีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พ.ย. ยืนยันว่าตำรวจปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย มีการเจรจา ประกาศแจ้งเตือนผ่านแกนนำและกลุ่มผู้ชุมนุมตลอดการปฏิบัติการ แต่พบว่ามีความพยายามจากกลุ่มผู้ชุมนุมในการกระทำผิดกฎหมาย ฝ่าแนวกั้นตำรวจ ขว้างพลุควัน รื้อแบริเออร์ ตัดรั้วลวดหนาม และพยายามทำร้ายตำรวจ จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามขั้นตอนตามยุทธวิธี ทั้งนี้ยืนยันว่าตำรวจไม่ได้ใช้กระสุนยางหรือกระสุนจริงในการปฏิบัติการครั้งนี้
ขณะที่ศูนย์เอราวัณ สรุปตัวเลขผู้บาดเจ็บจากการปะทะและการสลายชุมนุม ระบุว่า (18 พ.ย. 2563) มียอดผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 55 คน แบ่งเป็น ผู้ได้รับบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา 32 คน ถูกยิง 6 คน (ไม่มีการยืนยันว่ากระสุนจริง หรือกระสุนยาง) มีอาการป่วยขณะชุมนุม 4 คน และบาดเจ็บอื่น ๆ 13 คน โดยรักษาตัวตามโรงพยาบาลต่าง