เครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับ HIV ย้ำ ต้องยกเลิกตรวจหาเชื้อ HIV ก่อนรับเข้าทำงาน ป้องกันผลกระทบหากผลเลือดถูกเผยแพร่
จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติวันที่ 23 พ.ย. 2563 รับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน กรณีการเลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรม ต่อผู้ติดเชื้อ HIV ในการรับเข้าทำงานกับบริษัทเอกชน ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
กระทรวงยุติธรรม ได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาและยกร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพื่อเป็นกฎหมายกลางในการขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ เพื่อสอดคล้องกับพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และรัฐธรรมนูญและราชอาณาจักรไทย
ขณะที่กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงแรงงาน ได้จัดทำหนังสือถึงสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทุกจังหวัด และใน กทม. ทุกพื้นที่ เพื่อคุ้มครองสิทธิ และไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างผู้ติดเชื้อ HIV และเอดส์ พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมจัดหางาน พิจารณาปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบหรือแนวปฏิบัติเพื่อคุ้มครองคนหางานโดยไม่ต้องตรวจหาเชื้อ HIV ในช่วงสมัครงาน และในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกหนังสือเวียนเพื่อแจ้งแนวปฏิบัติเรื่องการการปกปิดข้อมูลความลับด้านสุขภาพของผู้ป่วย ตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์
กสม. ชี้ บริษัทตรวจเลือดโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ถือเป็นการละเมิดสิทธิ
การปรับปรุงกฏหมายฉบับนี้ เกิดขึ้นหลัง กสม. ได้รับการร้องเรียน ขอให้ตรวจสอบบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่ส่งตัวพนักงานที่อยู่ระหว่างการทดลองงาน เข้ารับการตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาล โดยไม่แจ้งล่วงหน้า เรื่องการตรวจหาเชื้อ HIV
แต่เมื่อได้รับผลตรวจสุขภาพ ทางโรงพยาบาลส่งให้กับบริษัท แล้วผลการตรวจเกิดรั่วไหล ทำให้พนักงานผู้ติดเชื้อ HIV เกิดความอับอาย และถูกเลิกจ้าง โดยไม่จ่ายค่าชดเชยหรือค่าเสียหายใด ๆ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า เป็นการเลือกปฎิบัติ โดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี จึงได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้รัฐบาล พร้อมเสนอแนะให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่ง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับมอบ พร้อมพิจารณาปรับปรุงกฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ชี้ ขจัดการเลือกปฎิบัติได้ ต้องยกเลิกการตรวจหา HIV ก่อนรับเข้าทำงาน
The Active พูดคุยกับเครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี TNY+ ระบุว่า การยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว นับเป็นความก้าวหน้าทางกฎหมายของไทยในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อ HIV แต่ยังต้องการเห็นข้อบังคับ ห้ามตรวจเชื้อ HIV ก่อนรับเข้าทำงาน รวมถึงสถานพยาบาลที่รับตรวจสุขภาพจะต้องยกเลิกการตรวจหาเชื้อ HIV ที่อยู่ในโปรแกรมด้วยเช่นกัน เพราะอาจเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การปฏิเสธรับเข้าทำงาน จ้างงานไม่ตรงสาขาอาชีพ และเกิดความอับอายหากผลเลือดถูกเผยแพร่
“บริษัทมักอ้างว่า ตรวจหาผลเลือดเพื่อที่จะได้จัดสวัสดิการ หรือตำแหน่งที่เหมาะสม แต่เราจะบอกว่าผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV หากรับประทานยาต้านเป็นประจำจะมีสุขภาพแข็งแรงเหมือนกับพนักงานทั่วไป และยังไม่พบเชื้อในร่างกายเท่ากับไม่แพร่เชื้อ การยังมีกฎระเบียบที่ล้าหลังเท่ากับสังคมยังขาดความเข้าใจในเรื่องนี้ หากขจัดปัญหาเหล่านี้ได้ นอกจากจะทำให้ผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV มีอาชีพอย่างที่ต้องการ การที่สังคมเห็นว่าผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV อยู่ร่วมกันในทุกพื้นที่ของสังคม ก็จะช่วยให้ทัศนคติของคนในสังคมต่อผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ดีขึ้นด้วย”
ร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ฉบับประชาชน ความหวังขจัดการตีตราผู้ติดเชื้อ HIV
อีกด้านหนึ่ง มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ พร้อมด้วยทีมงานโครงการลดตีตราและเลือกปฏิบัติในสังคม เตรียมยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. … (ภาคประชาชน) ที่รวบรวมรายชื่อประชาชนครบ 11,653 รายชื่อ ต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นกฏหมายกลาง ที่ล้อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 และ มาตรา 27 แต่พ่วงกฎหมายลูก ที่ครอบคลุมทั้งการออกกฎระเบียบรับสมัครงาน ตั้งคณะกรรมการ และกองทุนในการพิจารณา เยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลือกปฏิบัติ ต่อประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนพิการ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์
ปัจจุบันประเทศไทยมีเยาวชน อายุ 15-25 ปี ที่กำลังก้าวสู่การประกอบอาชีพ มากกว่า 23,000 คน ทั้งที่ติดจากพ่อ-แม่ การมีเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ซึ่งประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นที่จะยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 โดยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการยุติปัญหาเอดส์ พ.ศ. 2560-2573
มีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ 1. ลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ให้เหลือปีละไม่เกิน 1,000 ราย 2. ลดการเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อเอชไอวีเหลือปีละไม่เกิน 4,000 ราย และ 3. ลดการรังเกียจและการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะลงจากเดิมร้อยละ 90 โดยการดำเนินงานเพื่อลดการรังเกียจและการเลือกปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับเอชไอวีและเพศภาวะ