(28 พ.ย.2563) เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ตัวแทนนักการเมือง นักวิชาการร่วมวงเสวนา “มหกรรมรัฐธรรมนูญใหม่สู่รัฐสวัสิดการ” ถกความเป็นไปได้ที่ไทยจะมีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า
นิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ย้ำว่า “อะไรที่เป็นของประชาชนไม่เคยตกลงมาจากฟ้า แต่ตกลงมาจากการเรียกร้องของประชาชน” โดยยกตัวอย่างความยากลำบาก ตั้งแต่การผลักดันหลักประกันด้านสุขภาพ ตั้งแต่ปี 2542 แต่เมื่อเรียกร้องได้สำเร็จ ก็ทำให้สังคมไทยมีหลักประกันด้านสุขภาพ และทำให้ความยากจนจากความเจ็บป่วยหยุดลง ปัจจุบันภาคประชาชนยังพยายามผลักดันเรื่อง บำนาญแห่งชาติ โดยหลักการคำว่าถ้วนหน้า เกณฑ์เดียวที่กฎหมายบำนาญแห่งชาติตั้งไว้ คือ ทุกคนอายุ 60 ปี ต้องได้รับทั้งหมด ในฐานะภาคประชาชนมองว่า สถานะของกฎหมายฉบับนี้ยังมีความหวังที่ยังไม่ถูกปัดตก พร้อมแนะหากรัฐบาลต้องการจะได้ผลงานควรต้องปรับแก้ไข พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ให้เป็น พ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญแห่งชาติ
ระบบการคลัง เพื่อรองรับระบบสวัสดิการสังคม
เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มองว่า การตั้งคำถามว่า … ตกลงเงินพอไหม? สวัสดิการเพิ่ม เอาเงินมาจากไหน? ทำให้เราหลงลืมตั้งคำถามกับรัฐว่า
ตกลงที่จ่ายอยู่เยอะแล้วหรือ?
จ่ายให้ใครบ้าง? ถ้าจำเป็นจะต้องเพิ่มจะเพิ่มจากจุดไหน ?
พร้อมนำเสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับการจัดสวัสดิการของไทย เช่น องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ILO และ World Bank ระบุสอดคล้องกันว่า “ค่าใช้จ่ายด้านการคุ้มครองสังคมของไทยคิดเป็น 3.7% ของ GDP ครึ่งหนึ่งของที่จีน กับเวียดนามจ่าย ที่จ่ายราว 6%” แม้ ILO จะชมว่าจ่าย 600 ถ้วนหน้า แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับการดำรงชีพ โดยหากเทียบสัดส่วนค่าใช้จ่ายทุกด้านของไทย ทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา บำนาญ การคุ้มครองแรงงาน และการช่วยเหลือสังคม ฯลฯ ไทยจ่ายสวัสดิการน้อยกว่าหลายประเทศทั่วโลก
อาจารย์เดชรัต ยังคาดการณ์งบประมาณระบบบำนาญแห่งชาติ หากจะจัดแบบถ้วนหน้า 3,000 บาท/เดือน จะมีภาระต่อ GDP เพิ่มขึ้นเล็กน้อยไม่เกิน 3% จึงเสนอไม่ต้องตัดงบข้าราชการ แต่เสนอให้เพิ่มสวัสดิการให้ประชาชนแทน ด้วยการเพิ่มหมวดสวัสดิการประชาชนอยู่ใน พ.ร.บ.งบประมาณฯ
ความเป็นไปได้ทางการคลังของบำนาญแห่งชาติ
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลระบุ การจัดสรรงบประมาณเพื่อรัฐสวัสิดการ สำหรับวัยเกษียณมีความเป็นไปได้ทางการคลัง
ปัจจุบันไทยมีผู้สูงอายุ 12 ล้านคน ได้รับอยู่เพียง 9.6 ล้านคน แม้จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเฉลี่ยปีละ 5 แสนล้านบาทไปอีก 20 ปี ข้างหน้า ถ้ารัฐบาลสามารถหาแหล่งเงินที่ชัดเจนได้
เช่น ภาษีสรรพสามิต, ภาษี E-service, ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม, ขายสลาก ฯลฯ ถึงแม้ว่าจะต้องกู้ยืมบ้างก็ไม่อยู่ในระดับที่ทำให้วินัยการคลังเสีย รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับรัฐสวัสิดการน้อยมาก ทั้งที่รัฐสวัสดิการ คือ ทางออกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมย้ำ ประเทศไทยต้องก้าวข้ามมายาคติเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ รัฐต้องบริหารจัดการทรัพยากรของประเทศอย่างมีศักดิ์ศรี และไม่ต้องมีการพิสูจน์ความยากจน
ด้าน นายทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุว่า มีความเป็นไปได้ แต่ยังมีความท้าทาย เพราะปัจจุบันสังคมไทยกำลังถือรัฐธรรมนูญนิยม มีเรื่องของอำนาจการแย่งชิงผลประโยชน์ ขณะที่สวัสดิการสังคมก็ยังเป็นเรื่องสงเคราะห์ ไม่มีสิทธิ์เสมอกัน ต้องพิสูจน์ความจน ความยากไร้ ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ขณะนี้มีความพยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ เพื่อสร้างหลักประกันคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนจำนวน 5 ร่าง และกำลังมีข้อเสนอเพิ่มเติมจากทั้งภาคประชาชน พรรคการเมืองฝ่ายค้าน และรัฐบาล เพื่อให้เป็นหลักประกันในชีวิตที่ดีของประชาชน