iLaw ชี้ คำวินิจฉัยศาลอาจส่งผลต่อรัฐมนตรีทั้งคณะ ด้าน จนท.คุมเข้ม รอบอาคารศาล รธน. ‘กลุ่มราษฎร’ ย้ายที่ชุมนุมไปห้าแยกลาดพร้าว
จับตาวันนี้ (2 ธ.ค. 2563) เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดแถลงคำวินิจฉัยกรณีบ้านพักหลวง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยบรรยากาศรอบพื้นที่ศาลรัฐธรรมนูญภายในอาคาร เอ ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เริ่มมีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนประจำจุดโดยรอบพื้นที่และบริเวณถนนทางเข้าศูนย์ราชการฯ มีรถตู้และรถบัสตำรวจจอดเป็นแนว ส่วนภายในอาคารสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและบางหน่วยงานที่อยู่ในอาคารเดียวกัน มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำงานที่บ้านหนึ่งวัน
ขณะที่กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มราษฎร หลังจากเมื่อวานนี้ (1 ธ.ค.) มีการประกาศเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมจากศาลรัฐธรรมนูญเป็นห้าแยกลาดพร้าวในเวลา 16.00 น. ก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวหรือประกาศเพิ่มเติมจากแกนนำ
ย้อนคำร้อง “คดีบ้านพักหลวง”
คดีบ้านพักนายกรัฐมนตรี เริ่มขึ้นหลังจากกรณีที่ ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา พรรคเพื่อไทย เปิดประเด็นในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25-27 ก.พ. โดยเขากล่าวหา พลเอก ประยุทธ์ ว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 ว่าด้วยการขัดกันของผลประโยชน์ เนื่องจากยัง “พักในบ้านพักทหารโดยไม่จ่ายค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ ทั้งที่เกษียณอายุราชการจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ไปตั้งแต่ 1 ต.ค. 2557”
โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 บัญญัติห้าม ส.ส. และ ส.ว. ต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ และมาตรา 186 วรรคหนึ่ง ให้นําข้อห้ามดังกล่าวมาใช้กับผู้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม อีกทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ก็ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาท
หากมีการฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าว ย่อมถือเป็นการกระทําอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และจะมีผลทําให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (5) ที่กำหนดว่า ถ้ารัฐมนตรีกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือ มาตรา 187 หรือ รัฐมนตรีกระทำการอันเป็นการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 184 ที่ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ให้ความเป็นรัฐมนตรีของบุคคลนั้นสิ้นสุดลง
iLaw ชี้ คำวินิจฉัยศาล อาจส่งผลต่อรัฐมนตรีทั้งคณะ
ด้านโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เผยแพร่คำวิเคราะห์ว่า ผลของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะเป็นบรรทัดฐานสำคัญต่อกรณีอดีตผู้นำเหล่าทัพในการเข้าพักบ้านหลวงหลังเกษียณแต่ยังดำรงตำแหน่งทางการเมือง
และอาจมีผลต่อรัฐมนตรีทั้งคณะ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 กำหนดด้วยว่า รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 ดังนั้น ถ้า พลเอก ประยุทธ์ ต้องสิ้นสุดสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรี บรรดารัฐมนตรีที่พลเอก ประยุทธ์ เป็นคนเสนอชื่อแต่งตั้ง ก็จะต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย แต่ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ยังกำหนดเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรีไว้ด้วยว่า ต้องไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตําแหน่งเพราะเหตุกระทําการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือ มาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึง 2 ปี นับถึงวันแต่งตั้ง หรือหมายความว่า ถ้า พลเอก ประยุทธ์ ถูกวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งจากคดีพักบ้านหลวงจะต้องเว้นวรรคทางการเมืองเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี