ศาล รธน. ชี้ เป็นไปตามระเบียบ เป็นอดีต ผบ.ทบ. ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศชาติ และไม่ได้ให้เฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์
วันนี้ (2 ธ.ค. 2563) ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย “พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ จากกรณีพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหาร แม้เกษียณอายุราชการ 6 ปีแล้วก็ตาม
เมื่อเวลา 15.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มี วรวิทย์ กังศศิเทียม เป็นประธาน ออกนั่งบัลลังก์ เพื่ออ่านคำวินิจฉัยที่ 29/2563 กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3) หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาราว 20 นาที อ่านคำวินิจฉัย โดยพิจารณาข้อเท็จจริงได้ว่า ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งและเกษียณราชการ ขณะดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก ตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในบ้านพักรับรองกองทัพบก พ.ศ. 2548 โดยข้อ 5 ระบุว่า ผู้มีสิทธิเข้าพักต้องมีคุณสมบัติ 5.2 เป็นผู้บังคับบัญชาการชั้นสูง ทำคุณประโยชน์ให้กองทัพบกและประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก
นอกจากนี้ กองทัพบกอาจพิจารณาให้เข้าพักเฉพาะราย โดยให้กองทัพบกพิจารณาความเหมาะสม ในการสนับสนุนงบฯ ค่าไฟ ค่าน้ำ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ตามความจำเป็น
ประกอบคำชี้แจง ผบ.ทบ. ระบุว่า ขณะที่ผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรี ยังดำรงตำแหน่งเป็น ผบ.ทบ. อยู่ จึงมีสิทธิเข้าพักในบ้านพักรับรอง เมื่อผู้ถูกร้องเกษียณราชการ ผู้ถูกร้องยังดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ จึงมีสิทธิอาศัย เพราะเคยเป็นผู้บังคับบัญชาการชั้นสูงของกองทัพบก ทำคุณประโยชน์ให้กองทัพบกและประเทศชาติ และเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกด้วย
นอกจากนี้ กองทัพบกพิจารณาให้สิทธิไม่ใช่เฉพาะผู้ถูกร้องเท่านั้น เป็นไปตามดุลยพินิจของกองทัพบก ตามระเบียบกองทัพ โดยตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งสำคัญของประเทศ ความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรี จึงเป็นสิ่งสำคัญ รัฐจึงจำเป็นต้องจัดบ้านพักให้นายกรัฐมนตรี และครอบครัว เพื่อสร้างความพร้อม ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม จึงมีความจำเป็นที่รัฐต้องจัดที่พำนักให้
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้อง จึงไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 1 (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรค 1 (5) มาตรา 186 วรรค 1 และ มาตรา 184 วรรค 1 (3)
เนื่องจากไม่เป็นกรณีการถือประโยชน์ส่วนตน มากกว่าประโยชน์ประเทศ ไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเอง ไม่เป็นการขอเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ในประการที่อาจจะกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ และไม่เป็นการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวมโดยทางตรงและทางอ้อม
ดังนั้น ผู้ถูกร้องจึงไม่มีพฤติกรรม อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามที่กำหนดในมาตรฐานจริยธรรม อันเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (5) ซึ่งเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 1 (4)