4 กลุ่มเสี่ยงจน จวก รัฐทิ้ง SME อุ้มทุนใหญ่

นักวิจัยจุฬาฯ ชี้ ปัจจัยเสี่ยงจน คือ การว่างงาน แนะ รัฐกระจายความมั่งคั่ง สร้างรัฐสวัสดิการ นักเศรษฐศาสตร์ ห่วง ทรัพย์สินหลุดมือ ไม่มีเงินไถ่ถอน

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2563 ชลนภา​ อนุกุล​ นักวิจัยหน่วยปฏิบัติการ​วิจัยความมั่นคงของมนุษย์​ และความเท่าเทียม​ จุฬา​ลงกรณ์​มหาวิทยาลัย​ เปิดเผยกับ The Active ว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นวิกฤตอีกครั้งที่ทำให้ตัวเลขคนจนเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังมีคนเสี่ยงจนได้แก่ 1. คนที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมที่มีมากถึง 20 ล้านคน 2. คนที่มีภาระครอบครัว เลี้ยงลูก ดูแลผู้พิการ ผู้สูงอายุ 3. กลุ่มชาติพันธุ์ และ 4. กลุ่มคนไร้สัญชาติ

“วิกฤตโควิด-19 ทำให้เห็นถึงระบบคุ้มครองทางสังคมของไทย ที่ด้อยกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจำนวนคนจน คงที่ เพราะมีระบบรัฐสวัสดิการที่รองรับ”

การลดปัจจัยเสี่ยงเป็นคนจน คือ แก้ปัญหาการว่างงาน ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนตกงาน ตอนนี้ก็มาจากการใช้เทคโนโลยี การลดความเป็นองค์กร ประหยัดต้นทุน แนวโน้มการจ้างงานในอนาคตจะแบบไม่ประจำมากขึ้น ดังนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจ ต้องมีตัวชี้วัดใหม่ คือ

  1. ธุรกิจดังกล่าว จ้างงานได้จำนวนมากแค่ไหน รายได้มั่นคงอย่างไร
  2. การจ้างงานทำให้แรงงานสามารถที่จะเคลื่อนย้ายการทำงานจากตำแหน่งหนึ่ง ไปอีก ตำแหน่งหนึ่งได้หรือไม่
  3. ทิศทาง การลงทุน อยู่บนความยั่งยืนหรือไม่

นักวิจัย จุฬาฯ ระบุอีกว่า ปัจจุบันการเพิ่มอัตราการจ้างงาน มักพูดถึงการการสร้างสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่ละเลยการส่งเสริมการจ้างงานเป็นกลุ่มย่อย ที่มาจาก SME เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จะส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อต่อยอดธุรกิจ แต่นวัตกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้ามีการผูกขาดของกลุ่มทุนใหญ่ เสมือนหนึ่งเป็นเพดานที่กั้นเอาไว้ คำถามคำสำคัญ คือ รัฐไทยอุ้มใคร ทุนใหญ่ หรือ รายย่อย

เธอยังมองต่อไปในปีหน้า ถึงแม้จะมีความหวังอาจมีวัคซีนโควิด-19 กลางปี ทำให้ภาคธุรกิจด้านการท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว แต่ข้อเสนอสำหรับรัฐที่ควรทำเพื่อความยั่งยืน คือ 1. กระจายความมั่งคั่ง หมายถึงการกระจายทรัพย์สิน การถือครองที่ดิน ปฏิรูปการจัดเก็บภาษี ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากสังคมมากก็ควรจ่ายนภาษีมาก 2. สร้างรัฐสวัสดิการ ออกกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบบ มีสวัสดิการรองรับคนตกงาน คนสูงอายุ ผู้พิการ และ 3. มีนวัตกรรมการจ้างงาน ที่ทำให้คนที่ต้องจ้างงานตัวเองอยู่รอด​

ห่วงหลังวิกฤต ทรัพย์สินหลุดมือ

ด้าน เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว และเริ่มดีขึ้นมาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน แต่ก็ยังไม่พ้นวิกฤต สิ่งที่รัฐบาลทำแล้วได้ผลดีที่สุดคือการกระตุ้น Demand หรือ ความต้องการซื้อ ด้วยการออกโครงการคนละครึ่ง แต่ข้อเสียก็คือ เป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้มี 4 เรื่องที่รัฐบาลที่ติดตามและมีนโยบายส่งเสริมต่อเนื่อง 1. อัตราการว่างงานต้องลดลง และต้องมีการวัดอัตราการจ้างงานอย่างแม่นยำ 2. ราคาสินค้าเกษตรต้องสูงขึ้น เพราะจะไปช่วยเพิ่มอำนาจการซื้อของภาคเกษตรกร 3. อัตราการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การนำเข้าส่งออก ต้องปรับตัวดีขึ้น และ 4. การเปิดรับนักท่องเที่ยว ต้องกระตุ้นและส่งเสริม ทั้งท่องเที่ยวภายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

แฟ้มภาพ

เขาประเมินวิธีการทำงานของรัฐบาลในช่วงรอบปีที่ผ่านมา มีความเห็นว่า

  1. รัฐบาลคลายล็อกดาวน์ช้าไป ทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ เป็นวงกว้าง
  2. การช่วยเหลือควรเป็นแบบถ้วนหน้า และรวดเร็ว แต่รัฐบาลพยายามใช้การคัดกรองจะเกิดความล่าช้า
  3. ไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจนในการเดินหน้าเศรษฐกิจภาคการเกษตร ตัวอย่างเช่นราคาข้าวช่วงกลางปีราคาดี เฉพาะปลายปีตกต่ำ ควรมีมาตรการชะลอราคาไม่ตก
  4. ความกังวลใจอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง ที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้แต่ไม่ดำเนินการ

“ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้น ยังจำเป็น ต้องอาศัยนโยบายที่จะไปกระตุ้น ความต้องการซื้อ เพราะมีความต้องการซื้อมากขึ้น ก็จะส่งต่อที่ไป ซัพพลาย หรือผู้ผลิตสินค้าเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม เป็นห่วงโซ่”

สำหรับแนวคิดการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ อาจจะล่าช้าไป ไม่ตอบโจทย์ทันที อย่างไรก็ตามการกระตุ้น demand สามารถทำได้หลายทาง เช่น เพิ่มค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นมาตรการทางนโยบายที่ ไปเพิ่มในส่วนของสวัสดิการให้แข็งแรงขึ้น

เดชรัต กล่าวอีกว่า ในปีหน้าหลายอย่างอาจจะดีขึ้น แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือเรื่อง หนี้เสีย ที่ บางส่วนพักชำระหนี้ต่อมาถึงปี 2564 แล้วก็จะหมดระยะเวลาพักหนี้ในช่วงนี้ รัฐต้องเตรียมมาตรการช่วยเหลือ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ หรืออาจจะอุ้มหนี้ต่อไปโดยมีกองทุนซื้อหนี้เสียเหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องพวกนี้ก็เป็นเรื่องวินัยทางการเงินของธนาคาร ที่ยังเป็นข้อถกเถียง

ส่วนแนวโน้มการท่องเที่ยวจะกลับมาได้มากแค่ไหน คงยังกลับมาไม่มาก อีกส่วนที่ต้องจับตา คือ เศรษฐกิจภาคครัวเรือน ต้องดูที่รายได้ และหนี้สินมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือ ไม่อย่างนั้นจะเป็นปัญหาที่ลุกลามบานปลาย และสุดท้ายคือสถานการณ์การส่งออก

มีข้อกังวลอยู่ 2 เรื่อง 1. คนที่ถือครองทรัพย์สินอาจจะหลุดมือ เช่น ที่ดินหรือสิ่งของที่นำไปจำนำ หรือจำนองในช่วงเกิดวิกฤตและไม่สามารถไถ่ถอนมาได้ 2. โอกาสทางการศึกษาของเด็ก ๆ ที่อาจจะหายไปจากวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งตรงนี้รัฐบาลต้องมีมาตรการเข้าไปสแกนดู และให้ความช่วยเหลือไม่ให้มีเด็กคนไหนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาจากวิกฤตโควิด-19

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS