นักเศรษฐศาสตร์ ระบุ ผลผลิตออกมากกว่าที่ผ่านมา 35 – 50% ทำปัจจัยราคาหน้าสวนตก แนะ นำงบฯ กระตุ้นเศรษฐกิจแก้ปัญหา เร่งระบายผลผลิต หาตลาดใหม่ ทั้งภายใน – นอกประเทศ แปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า
วันนี้ (4 ก.ค. 68) จากกรณีปัญหาราคามังคุดหน้าสวน ที่เกษตรกร อ.พรหมคคีรี จ.นครศรีธรรมราช สะท้อนตกต่ำมากที่สุดในรอบ 10 ปี โดยราคาเปิดฤดูหน้าสวนตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน จนถึง ขณะนี้ อยู่ที่ไม่เกิน 15 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ที่ราคาต่ำสุดไม่น้อยกว่า 35 บาทต่อกิโลกรัม และกลายเป็นทุกข์หนักของเกษตรกรเพราพแบกรับต้นทุนการปลูก 30 บาท ต่อ กิโลกรัม
เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward center เปิดเผยกับ The Active ถึงปัจจัยที่ทำให้ราคามังคุดใต้ตกต่ำขณะนี้ เป็นผลจากสองส่วนสำคัญ คือ ผลิตที่ออกมาปีนี้ คาดการณ์มากกว่าปกติ 35-50 % โดยทุกภาคทั่วทั้งประเทศที่ผลิตออกมาในช่วงไล่เลี่ยกัน รวมประมาณ 400,000 ตัน แต่ปีนี้ผลผลิตล้นเกินประมาณ 80,000 -100,000 ตัน

ในขณะที่การส่งออก ทำได้ไม่ดีนัก จากวิธีการทำตลาดแบบเดิมๆ ไม่ได้มีการพัฒนารูปแบบให้ตอบโจทย์มากขึ้น ในขณะที่ตลาดปลายทางของเรายังคงพึ่งพาตลาดเดียว ก็คือตลาดจีน และเมื่อตลาดจีนชะลอตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจเราก็ส่งออกได้น้อยลง
รัฐขาดแผนการรับมือล่วงหน้า
เมื่อถามว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ทำให้การแก้ไขปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำสะดุดหรือไม่ เดชรัต มองว่า เรื่องนี้อาจไม่ใช่เหตุผลหรือปัจจัยสำคัญ เพราะก่อนหน้านี้ ก็มีปัญหาเรื่องราคามะม่วงตกต่ำ ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่มีความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ยังไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี แต่การแก้ไขปัญหาก็ล่าช้า ไม่แตกต่างจากสิ่งที่เคยเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันตอนนั้นราคาข้าวก็ตกต่ำ หรือราคามันสำปะหลังก็ตกต่ำ คือ ณ วันนั้น ไม่มีใครคิดเรื่องการเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี แต่การแก้ไขปัญหาก็ยังไม่เกิดขึ้นจนตอนนี้
“ที่เป็นปัญหา คือการคาดการณ์แต่ไม่ได้มีการวางแผนรับมือที่ดี เพราะการคาดการณ์มีอยู่แล้ว ซึ่งก็รู้มาประมาณสัก 2 – 3 เดือนแล้ว ว่าการส่งออกไม่ค่อยดีเหมือนปีก่อนก่อน ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าผลผลิตมังคุดจะมากกว่าปกติแต่กลับไม่ได้ดำเนินการในการที่จะกระจาย หรือหาตลาดล่วงหน้า”
เดชรัต สุขกำเนิด

เดชรัต ยังมองว่า แนวทางในอนาคตจะต้องมีระบบในการเฝ้าระวัง แล้วเตือนภัยล่วงหน้า และจัดการนำผลผลิตส่วนเกิน ไประบายในรูปแบบที่เหมาะสม เช่นเรื่องของการหาตลาดใหม่ใหม่ ทั้ง เรื่องตลาดภายในประเทศ หรือเรื่องของการแปรรูป จะต้องทำล่วงหน้าตั้งแต่ราคายังไม่ตก ไม่ใช่รอให้มันตกเยอะเยอะ คือเมืองไทยมักจะรอให้มันเกิดเสียงเรียกร้อง หรือภาษายุคใหม่เรียกว่า รอให้เกิดดราม่าก่อน แล้วค่อยมาแก้ไข ซึ่งอาจจะทำให้ไม่ทันการณ์ และจะใช้งบประมาณมากกว่าที่ไปทยอยตัดส่วนเกินทีละน้อยออกมา
“ที่สำคัญ เราจะต้องพัฒนาโรงงานแปรรูป ใน 3 ลักษณะ ลักษณะที่ 1. เพื่อใช้ในการบริโภคภายในประเทศลักษณะที่ 2. ใช้เพื่อการส่งออก ลักษณะที่ 3. การแปรรูปเพื่อการฉุกเฉิน คืออาจจะไม่ได้ดำเนินการทุกปี แต่เมื่อถึงปีที่จำเป็นจะต้องดำเนินการ แล้วเก็บผลผลิตในจำนวนมาก โดยไม่ทำให้คุณภาพลดลง และราคาลดลง ยกตัวอย่างการนำมาทำเป็นน้ำ เป็นไวน์ เป็นไอศครีม นี่คือสิ่งที่เราจะต้องคิดไว้ ว่าจะมีช่องทางอย่างไร หรือมันต้องมีแผนสำหรับทุกพืชเลย ว่าในสถานการณ์ที่เกิดวิกฤต เราจะไปแปรรูปเป็นอะไร”
เดชรัต สุขกำเนิด
BIOTHAI แนะพลิกวิกฤตราคาผลไม้ตกต่ำ เสริมโภชนาการเด็กนักเรียน
ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ นักเศรษฐศาสตร์ หยิบยกมาโดยมองว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจ คือ มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) มีข้อเสนอแนะแก้ไขปัญหาผลผลิตมังคุดที่ออกมาก และราคาตกต่ำในขณะนี้ โดยเสนอให้รัฐบาล นำมังคุดและผลไม้ส่วนเกินมาใช้ในโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน โดยจัดสรรให้เด็กในระดับปฐมวัยและประถมศึกษาได้รับผลไม้ 500 กรัม หรือ 5 -7 ลูก เป็นระยะเวลา 31 วัน เริ่มจากพื้นที่นำร่องในจังหวัดที่อยู่ใกล้แหล่งผลไม้ก่อน
รัฐบาลสามารถบริหารจัดการ รับซื้อจากเกษตรกรในราคา 25 บาท ต่อ กิโลกรัม งบฯ รวมที่ต้องใช้ 2,500 ล้านบาท รัฐบาลอุดหนุน 50% = 1,250 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งใช้งบฯ อาหารกลางวันเดิมของโรงเรียน ก็จะช่วยเกษตรกร และเด็กนักเรียนได้รับผลไม้เพียงพอตามมาตรฐาน WHO

จับตา ‘รมว.พาณิชย์’ ป้ายแดง เร่งแก้ปัญหาสินค้าเกษตร
ส่วนที่อาจมีการตั้งข้อสังเกต หรือคำถาม ต่อ ครม.ใหม่ ถึงประสบการณ์และผลงานการทำงาน ที่อาจไม่ตรงโจทย์กับตำแหน่งที่เข้ามารับผิดชอบ อย่าง จตุพร บรุษพัฒน์ อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เข้ามานั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แต่ในมุมมองของ เดชรัต ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาในการทำงาน แต่ปัญหาสำคัญที่ผ่านมาในการแก้ไขปัญหาเรื่องสินค้าเกษตร ต้องมีการประสานงานกันอย่างดีระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
“ที่ผ่านมายกตัวอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้าว เรื่องมันสำปะหลัง ซึ่งกรณีมันสำปะหลังจะต้องไปเกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงกระทรวงพลังงานด้วย การจะไปประสานงานระหว่างกระทรวงต่าง ๆ ที่ผ่านมาอาจไม่ค่อยราบรื่นนัก ซึ่งในกรณีของข้าวนาปรังเองก็เห็นชัด ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์บอกว่า เราส่งข้าวออกไปได้น้อยลง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า น้ำดีให้ไปปลูกข้าวมากขึ้น มันก็กลายเป็นว่าเกิดปัญหาขึ้น”
เดชรัต สุขกำเนิด
เพราะฉะนั้นในส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้ คือปัญหาในคณะรัฐมนตรีชุดเดิม ซึ่งตอนนี้ก็เปลี่ยนทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ตอนนี้มีทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนใหม่ คำถามก็คือว่าทั้ง 2 คน จะแสดงให้เห็นว่าดำเนินการควบคู่กัน เป็นการสอดประสานการทำงานกันได้อย่างไร มากกว่าที่จะไปตั้งคำถามถึงภูมิหลังของรัฐมนตรีแต่ละท่าน จึงคิดว่าเรื่องการประสานงานกันระหว่างกระทรวง น่าจะเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า

หวั่นรัฐบาลอายุสั้น แนะ เตรียมงบฯ กระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ปัญหาราคาผลผลิตเกษตรตกต่ำ
สำหรับกระแสที่หลายฝ่ายประเมินว่ารัฐบาลอาจจะอายุสั้น บริหารงานต่อไม่เกินอีก 3 เดือน เดชรัต แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ยิ่งเป็นรัฐบาลที่มีอายุสั้นลง และกำลังเดินหน้ากลับไปสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไป หากเป็นตนก็ยิ่งต้องคิดว่าจะต้องทำงานให้เร็วขึ้น ให้เห็นผลชัดเจนขึ้น
“ข้อมูลที่เราคุยกันมาแต่ตอนต้น หากจะดึงผลผลิตมังคุดที่ล้นออกไปประมาณ 80,000 ถึง 100,000 ตัน ต้องใช้งบประมาณ 3,000 – 4,000 ล้านบาท ในขณะที่รัฐบาลเตรียมงบฯ กระตุ้นเศรษฐกิจ ไว้ 157,000 ล้านบาท ถามว่า 100,000 กว่าล้าน และ 3,000 กว่าล้านบาท เปรียบเทียบกันแล้วมันเป็นเงินที่ไม่ได้มากมายอะไรเลย ถ้ารัฐบาลจะมาแสดงออกถึงวิธีการในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง สามารถที่จะทำได้”
เดชรัต สุขกำเนิด
เพราะฉะนั้น แม้ว่ารัฐบาลอาจจะไม่ได้มีอายุยืนยาว เหมือนที่หลายฝ่ายประเมินเอาไว้ในทางการเมือง สิ่งที่จะทำให้พี่น้องประชาชนไว้ใจได้ก็คือ การหาคำตอบในกระบวนการประชาธิปไตย ก็คือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลที่มาจากระบบประชาธิปไตย สามารถที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างทันการณ์ ก็อยากให้รัฐบาลมองเห็นจุดนี้ และนำเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เตรียมไว้ 150,000 กว่าล้านบาท มาใช้ 3,000 – 4,000 ล้านบาท ที่จะแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว