มูลนิธิรักษ์ไทย แนะ รัฐไม่สร้างความกลัว งดส่งกลับ-ดำเนินคดีทุกกรณี ขอให้รับเข้าตรวจโรค 100% เผย ลงพื้นที่พบ เข้าไม่ถึงหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ รายได้ลด-ตกงาน
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบุ 12 คน ติดโควิด-19 ในประเทศ เกี่ยวข้องกรณี เจ้าของแพปลา ในตลาดกุ้ง จ.สมุทรสาคร มีประวัติสัมผัส 8 คน แต่ยืนยันไม่ถึงขั้นล็อกดาวน์จังหวัด
ขณะที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร และผู้กํากับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดสมุทรสาคร ได้ออกคำสั่งจังหวัด เรื่อง ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคําสั่งฉบับนี้ มีโทษตาม มาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2554 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามมาตรา 18 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ด้วยเหตุที่เป็นกรณีมีความจําเป็นเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนและประโยชน์สาธารณะ หากปล่อยให้เนิ่นช้าไป จะก่อผลเสียหายร้ายแรงต่อส่วนรวม จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามนัยมาตรา 30 วรรค 2(1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539
เนื้อหาในประกาศระบุ
ด้าน วัชระพล บูรณะเนตร ผู้ประสานงานภาคสนาม มูลนิธิรักษ์ไทยสมุทรสาคร กล่าวกับ The Active ว่า การประกาศห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว เป็นเหมือนการตีตรา เพราะเช่นนั้นแล้วควรห้ามเคลื่อนย้ายคนไทยออกนอกพื้นที่ด้วย เพราะโควิด-19 คงไม่ได้ติดเฉพาะแรงงานข้ามชาติ
การสืบสวนโรคเมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิรักษ์ไทย ได้ไปเป็นล่ามภาษาเมียนมานำแรงงานไปตรวจเชื้อโควิค พบว่า แรงงานส่วนใหญ่ลงทะเบียนเข้ามาอย่างถูกต้อง ซึ่งมีจำนวนกว่า 2 แสนคน ส่วนแรงงานที่ไม่มีบัตร ก็สื่อสารทำความเข้าใจให้เข้ามาตรวจเชื้อ โดยคุยกับทางจังหวัดว่าจะไม่ดำเนินคดีและส่งกลับประเทศ และควรต้องตรวจก่อนตรวจไปก่อน ส่วนเรื่องการดำเนินการทางกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองอาจยืดหยุ่นผ่อนผันไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดความหวาดกลัวในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีบัตร แล้วไม่ยอมเข้ามาตรวจหาเชื้อ ซึ่งอาจเป็นช่องโหว่ให้เกิดการระบาด
“แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ เวลาเจ็บป่วยเล็กน้อยก็ยังเดินทางมาทำงาน ต้องเจ็บป่วยมากจริง ๆ ถึงจะไปโรงพยาบาล ส่วนใหญ่ก็จะนอนอยู่ในห้องพัก”
เขาบอกอีกว่า จากการลงพื้นที่พบว่าแรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงอุปกรณ์การป้องกัน เช่นหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ จึงขอรับการสนับสนุนจากสภากาชาดไทย เข้าไปแจกสิ่งของเหล่านี้ โดยจากการระบาดของโควิด ก็ทำให้รายได้ของแรงงานข้ามชาติลดลง บางรายอยู่ในไทยแบบตกงาน บางส่วนยังคงรอขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายในการทำเอกสาร
ส่วนกรณีผู้ติดเชื้อโควิดที่เป็นเจ้าของแพปลา ติดเชื้อจากแรงงานข้ามชาติหรือไม่ คงต้องรอ ทีมสอบสวนโรค สอบประวัติการเดินทางย้อนกลับว่าไปที่ไหนมาบ้าง ส่วนแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในตลาดส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่อยู่ในไทยมานานแล้ว ไม่ได้ออกไปไหน น่าจะมีความเป็นไปได้น้อยที่จะติดจากแรงงานข้ามชาติในตลาดกุ้ง