เตียงไม่พอ! รัฐใช้ตลาดกุ้ง​ กักแรงงานข้ามชาติ รักษาโควิด-19

รับเฉพาะอาการหนัก 30 คน รักษาใน รพ. ที่เหลือ​กว่า​ 500​ คน ไม่มีอาการ-อาการน้อย ให้ล่ามเมียนมา​ส่งอาหาร​ ‘เอ็นจีโอ’ จี้ เร่งสร้าง รพ.สนาม

วันนี้ (20​ ธ.ค.​ 2563)​ นพ.กิตติ​ กรรภิรมย์​ สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 5 เปิดเผยว่า​ 8​ จังหวัดใกล้เคียงจังหวัดสมุทรสาคร​ ได้มีการเปิดศูนย์​ปฏิบัติการฉุกเฉิน เพื่อค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกภายใน 3 วัน ครอบคลุมจำนวน 10,300 คน สำหรับผู้ติดเชื้อ จำนวน 500 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติที่อยู่ภายในตลาดกลางกุ้ง ส่วนมากไม่มีอาการ จำนวนนี้มีเพียง 30 คน ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล​ ส่วนที่เหลือมีแนวทางให้กักบริเวณอยู่ภายในตลาดกลางกุ้ง ไม่ให้เคลื่อนย้ายไปไหน แล้วใช้วิธีการให้ล่ามภาษาเมียนมา​ เข้าไปส่งข้าวส่งน้ำให้ตลอด 14 วัน

ขณะเดียวกันมีเตียงรองรับผู้ป่วย จากโควิด-19 ถึง 1,000 เตียง และมียา หน้ากากอนามัยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่พร้อมใช้เป็นเดือน ไม่มีขาดแคลน

อย่างไรก็ตาม​ อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ ​ กล่าวว่า การกักบริเวณแรงงานเพื่อนบ้านที่ติดเชื้อโควิด-19 น่าจะมาจากเหตุผลว่าไม่สามารถเตรียมโรงพยาบาลสนามได้ทัน​ ระบบสาธารณสุขไม่เพียงพอที่จะรองรับได้ จึงเอาไว้รองรับเพียงผู้ป่วยที่มีอาการหนักเท่านั้น ข้อมูลปัจจุบัน ที่ได้รับการยืนยัน คือ จะใช้โรงพยาบาลนครท่าฉลอม เป็นโรงพยาบาลสนามหลัก​ในการรับรักษาผู้ติดเชื้อโควิค-19 อาการหนักในพื้นที่​ ซึ่งเตรียมไว้ทั้งหมด 50 เตียง โรงพยาบาลสมุทรสาครอีก 20 เตียง โรงพยาบาลกระทุ่มแบนอีก 10 เตียง และโรงพยาบาลบ้านแพ้ว 10 เตียง รวมเป็น 90 เตียง​ แต่ก็ยังมีข้อเสนอ ว่าควรเปิดโรงพยาบาลสนามเพื่อรับการรักษาผู้ติดเชื้ออย่างเป็นระบบ และน่าจะมีประสิทธิภาพ​สามารถป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้มากกว่าการกักบริเวณ​

ทั้งนี้​ นพ.ทวีศิลป์​ วิษณุโยธิน โฆษก​ ศบค.​ กล่าวถึงแนวทางในการรักษาผู้ติดเชื้อในการจัดการผู้ติดเชื้อที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ในการแถลงข่าว ว่าอาจต้องใช้โมเดลแบบประเทศสิงคโปร์ ที่พบการระบาดในแรงงานเพื่อนบ้านที่มาทำงานเป็นกลุ่มก้อนในหอพักจำนวนนับหมื่นคน จนต้องปิดพื้นที่บริเวณดังกล่าวไว้ แล้วคัดเฉพาะผู้ที่มีอาการหนักมารับการรักษาในโรงพยาบาล

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS