ทำบัตรประชาชนวันนี้ (23 ธ.ค.) หลังรอคอยนาน 17 ปี ดีใจ ภาพยนตร์สารคดีช่วยคลี่ปัญหาเด็กถือบัตรไม่มีสถานะทางทะเบียน 130,000 คน
วันนี้ (23 ธ.ค. 2563) ตาล ปัน เยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ อดีตนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี และนักแสดงนำจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “ติดถ้ำ – The Caved Life” พร้อมแม่ แม่บุญธรรม และนพรัตน์ กันทะวงศ์ อดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าฯ หรือ โค้ชนพ ร่วมยื่นเอกสาร และถ่ายรูปทำบัตรประจำตัวประชาชน ณ ที่ว่าการอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย หลังรอคอยมานาน 17 ปี
ตาล กล่าวว่า การมีบัตรประชาชนถือเป็นความฝันสูงสุดในชีวิต เพราะจะทำให้ชีวิตของตนเองมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากการไม่มีบัตรประชาชนไปไหนมาไหนก็ยากลำบาก ในการจะเดินทางไปแข่งขันฟุตบอลนอกพื้นที่แต่ละครั้งต้องเดินทางไปขออนุญาตที่อำเภอ หรือไม่ การจะเรียนหนังสือต่อ หรือไปอยู่ในสโมสรฟุตบอลที่ใหญ่ขึ้น ก็ไม่สามารถทำได้
“หลังจากได้บัตรก็จะทำในสิ่งเหล่านี้ ก็จะเป็นโอกาสที่ดีต่อชีวิตในอนาคต ซึ่งต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้การช่วยเหลือจนได้รับบัตรครั้งนี้ รวมถึงหนังสารคดีที่ผมได้เป็นตัวแทนบอกเล่าปัญหาของเด็กไร้สัญชาติ ซึ่งผมจะมุ่งมั่นทำประโยชน์เพื่อสังคม และทำตัวเป็นคนไทยที่ดีให้สมกับที่ได้รับโอกาสดี ๆ เช่นนี้ครับ”
ด้าน โค้ชนพ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทีมหมูป่าฯ มีอุปสรรคนักฟุตบอลไม่มีสถานทางทะเบียน ส่งผลทำให้เกิดปัญหาในเรื่องโควต้านักเตะชาวต่างชาติ ซึ่งเคยยื่นขอสัญชาติมาโดยตลอด เพิ่งมาได้รับโอกาสในช่วงเกิดเหตุทีมหมูป่าฯ ติดถ้ำหลวง จนปัจจุบันได้สัญชาติไปแล้วหลายคน โดย “ตาล” เป็นคนที่ 7 ที่ได้รับรองสัญชาติไทย ซึ่งในทีมยังมีอยู่ส่วนหนึ่งที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องของสัญชาติอยู่ ซึ่งการได้รับสัญชาติเป็นประโยชน์ต่อทั้งอนาคตของตัวเด็กเอง ที่จะมีโอกาสในหลายด้าน ขณะเดียวกัน ก็จะมีผลต่อทีม ที่เด็กจะมีสมาธิในการฝึกซ้อม ไม่ต้องพะวงเรื่องการวิ่งขอสัญชาติ ไม่ต้องห่วงเรื่องโควต้าต่าวชาติ หรือการเดินทางไปแข่งขันที่ไหนก็จะสะดวกและง่ายขึ้น
สิ่งสำคัญจะเป็นก้าวแรกของเด็ก ๆ ที่จะเดินสู่เส้นทางฝันในฐานะนักฟุตบอลอาชีพ ซึ่งจะสามารถไปเข้าร่วมสังกัดหรือสโมสรไหนก็ตาม ทั้งในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่สนับสนุนให้เด็กมีวันนี้ได้
สำหรับตาล ได้ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนสถานภาพได้สัญชาติไทย ตาม ม.7 ทวิ ตามพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ตามหลักฐานการเกิด และพ่อแม่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนานเกิด 15 ปี จนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากนักกฎหมายที่ต่อสู้เพื่อคนไร้สัญชาติ จึงช่วยให้ ตาล น้องชาย และเพื่อน ๆ เข้าสู่กระบวนการรับรองสัญชาติ ก่อนที่เรื่องราวของเขาจะถูกนำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์สารคดี “ติดถ้ำ- The Caved Life” ในตอน “นักฟุตบอลหมายเลข 0” ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ถือบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือบัตรที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ซึ่งจากการสำรวจโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่าเป็นเยาวชนมากกว่า 130,000 คน ที่เกิดในประเทศไทย แต่ติดปัญหาครอบครัวขาดความรู้ทางกฎหมาย ประกอบกับอุปสรรคของระบบราชการ ที่ถูกมองว่าเพิกเฉยต่อปัญหา ทั้งที่มีการปฏิรูปกฎหมาย และนโยบายความมั่นคง รับรองสัญชาติให้สําหรับผู้ที่อยู่กลมกลืนในสังคมไทย
ด้าน พิธาสรวง จันทร์ฉายฉัตร ผอ.ส่วนสัญชาติและการทะเบียนและบัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย กรมการปกครอง ชี้แจงบนเวทีเสวนา “ความฝัน ความหวัง ของเด็กไร้สัญชาติ : นักฟุตบอลหมายเลขศูนย์ จะออกจากถ้ำได้อย่างไร” เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2563 ว่า กรณีของตาลและน้องชาย ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติเลข 13 หลัก ถือเป็นขั้นตอนปกติ ตาม ม. 7 ทวิ ตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 คือ เด็กที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งในรอบการพิจารณาของตาล มีจำนวนกว่า 100 คน ซึ่งเป็นบุตรหลานของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยุ่ในไทยเกิน 15 ปี ซึ่งตามกฏหมายระบุ ขั้นตอนดำเนินการไม่เกิน 60 วัน แต่ยอมรับว่า นอกจากในพื้นที่ อ.แม่สาย กว่า 27,000 คน ซึ่งต้องเสร็จสิ้นตั้งแต่ ธ.ค. 2559 แต่ทั้งประเทศ มีมากกว่า 480,000 คน ยากที่จะเสร็จสิ้นวันเดียว ซึ่งนอกจากกลไกทางราชการ ภาคีเครือข่ายที่ช่วยกระจายความรู้ จะช่วยให้กระบวนการเร่งได้เร็วขึ้น รวมถึงองค์ความรู้ งานวิจัย คลินิกกฎหมาย ที่ช่วยส่งเสริมภารกิจของหน่วยงานราชการ