วอนสื่อ หยุดสร้างวาทะเกลียดชังชาวเมียนมา

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ออกแถลงการณ์ ขออย่าลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แรงงานข้ามชาติ มองปัญหาโรคระบาดเกิดจากหลายฝ่าย

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2563 สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) เผยแพร่แถลงการณ์ ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนให้ระมัดระวังการนำเสนอเนื้อหาข่าวสารที่เข้าข่ายละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน และการใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความรุนแรง รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ทั้งทางกายและทางจิตใจ กรณีที่โควิด-19 เกิดการระบาดรอบใหม่ในประเทศไทย ช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และพบว่ามีจุดแพร่กระจายเชื้อในกลุ่มของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา และนำไปสู่การแพร่ระบาดหลายจังหวัดภายในเวลาไม่กี่วัน

โดยพบว่ามีการกล่าวถึงกลุ่มแรงงานชาวเมียนมาด้วยถ้อยคำไม่สุภาพ รวมไปถึงการกล่าวโทษ ในพื้นที่สื่อ ทั้งกระแสหลักและกระแสรอง ก่อเกิดกระแสของความไม่พอใจ และการกระทำที่แสดงความรังเกียจ เช่น ไม่อนุญาตให้คนเมียนมาซื้อของในร้านค้าบางแห่ง หรือแสดงท่าทีที่ไม่เป็นมิตร ซึ่งเรื่องนี้ถูกพูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์

ภาพจาก user348226568 ในแอปพลิเคชัน TikTok

แม้ก่อนหน้านี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้กล่าวในการแถลงรายงานสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ระบุให้ประชาชนคนไทยเห็นคุณค่าของแรงงานข้ามชาติ และให้เคารพในสิทธิมนุษยชน เพื่อยุติความเกลียดชังในสังคม กระทั่งได้เห็นภาพแรงงานชาวเมียนมาจำนวนหนึ่งแสดงความขอบคุณผ่านโซเชียลมีเดีย แต่สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ยังมองว่า มีการปรากฏถึงข้อความและเนื้อหาที่แสดงถึงความเกลียดชัง หรือดูถูกเหยียดหยาม จึงออกแถลงการณ์เพื่ออ้างต่อสิทธิโดยชอบธรรมของแรงงานข้ามชาติ และมาตรฐานทางจริยธรรมสื่อ

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขอเรียกร้องสื่อมวลชนทุกแขนงทั้ง online และ offline ยึดมั่นในข้อบังคับต่าง ๆ ว่าด้วยจริยธรรม จรรยาบรรณสื่อ ทำหน้าที่สื่ออย่างมืออาชีพ สร้างทัศนคติ (mindset) ที่ถูกต้อง ดังเช่นที่ปรากฏในข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ. 2559 ข้อ 13 หนังสือพิมพ์ต้องเสนอข่าวโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องให้ความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดต่อสิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรี ผู้ด้อยโอกาส

สสส. ยังเรียกร้องให้สื่อมวลชนส่งเสริมการนำเสนอข่าวสารที่นำไปสู่ความสงบสันติในสังคมมากกว่าการจะขยายพื้นที่ความขัดแย้งเพื่อเรียกความสนใจจากผู้ชม

ต้องไม่เป็นการซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมอันเกิดแก่เด็ก สตรี ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีอัตลักษณ์แตกต่างในสังคม และจะต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่มีการกำหนดไว้แล้วในข้อ 20 (2) ว่า การสนับสนุนให้เกิดความเกลียดชังในชาติ เผ่าพันธุ์ หรือศาสนา ที่ยั่วยให้เกิดการเลือกประติบัติ การเป็นปฏิปักษ์ หรือการใช้ความรุนแรง เป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ข้อความในบทแถลงการณ์ ยังมีการระบุถึงความหละหลวมในการสกัดกั้นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตั้งต้นทาง คือ บริเวณด่านชายแดน และชี้ให้เห็นถึงปัญหากระบวนการลับลอบเข้าประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายที่ยังลอยนวล

การไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดจากฝั่งประเทศเมียนมา ที่ทราบมาก่อนแล้วว่ามีการระบาดทั่วประเทศ ซึ่งอาจจะลามมาถึงประเทศไทย จากความประมาทของหลายฝ่ายที่มิได้เสริมกำลังพลเข้าสกัดการลักลอบการเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย แต่เริ่มแรกเจ้าหน้าที่รัฐมิได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ไม่บังคับใช้กฎหมายกับนายหน้าคนกลาง นายจ้าง เจ้าของสถานประกอบการ บ่อนการพนัน รวมถึงประชาชนที่ใช้ชีวิตข้ามชายแดนไปมาโดยไม่ผ่านด่านกลั่นกรอง กักตัว การกระทำผิดดังกล่าวส่งสัญญาณอันตรายจากเหตุการณ์คนไทยข้ามไปเที่ยวหรือให้บริการที่สถานบันเทิงใน จ.ท่าขี้เหล็ก ฝั่งเมียนมา มีการเข้าออกชายแดนทาง จ.เชียงราย โดยไม่มีการตรวจสอบเชื้อโควิด

โดย สสส. หวังให้สื่อทุกแขนงของไทยหลีกเลี่ยงการพาดหัว การใช้คำพูด ข้อความ ที่ดูถูกเหยียดหยาม ส่งเสริมโทสะวาจา (Hate Speech) หรือบ่มเพาะความเป็นชาตินิยม (Nationalism) ที่อาจนำไปสู่การเหยียดเชื้อชาติ (Racism) เพราะนอกจากผลกระทบในทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน อาจะทำให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยและคนเมียนมาในอนาคตอีกด้วย

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้