“ศิริราช” เสนอ 4 แนวทางจัดการโควิด-19 ระบาด

ห่วงสายพันธุ์ใหม่ ระบาดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม ระดับภูมิคุ้มกันอยู่ได้แค่ 7 เดือน มีโอกาสติดเชื้อซ้ำ คาด วัคซีนจะพร้อมใช้ทั่วโลกไม่น่าเร็วกว่ากลางปี 2564

เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 มีความน่าเป็นห่วง ทั้งการระบาดและการกลายพันธุ์ ที่ทำให้เชื้อแพร่ระบาดได้เร็วโดยการกลายพันธุ์ สายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ที่พบที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เรียกว่า สายพันธุ์ D614 ส่วน สายพันธุ์ G614 เริ่มพบในสัดส่วนประมาณ 26% ของเชื้อที่พบนอกประเทศจีนในเดือนมีนาคม 2563 และเพิ่มปริมาณ/สัดส่วนเร็วขึ้นมาก

เดือนเมษายน พบมากถึง 65% และในเดือนพฤษภาคม พบมากถึง 70% แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแพร่ระบาดมากกว่าสายพันธุ์เดิมมาก

ในเดือนกันยายนเริ่มพบ สายพันธุ์ B1.1.7 ในสหราชอาณาจักร กลางเดือนพฤศจิกายน สายพันธุ์ที่พบเป็น 20-30% ของโควิด-19 ที่ระบาดในสหราชอาณาจักร ต้นธันวาคม พบเพิ่มมากเป็น 60% ทั้งนี้ สายพันธุ์ B1.1.7 แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์ G614 แต่ไม่มีหลักฐานว่า รุนแรงกว่ากัน จึงอยู่ในศักยภาพวัคซีนที่ผลิตอยู่ป้องกันได้

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา | คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

อย่างไรก็ตาม ประมาณ 95% ของผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้น และอาจสูงพอที่จะยับยั้งเชื้อได้ประมาณ 8 วัน หลังการติดเชื้อ ขึ้นกับความรุนแรงของโรค รุนแรงน้อยระดับภูมิคุ้มกันก็น้อย

ส่วนระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น จะขึ้นเร็วในช่วง 3 สัปดาห์แรก หลังการติดเชื้อ แล้วค่อย ๆ ลดลง คงอยู่ได้นาน 40 วัน จนถึง 7 เดือน นั่นหมายความว่า ภูมิคุ้มกันอยู่ไม่ได้นาน การติดเชื้อซ้ำจึงเกิดขึ้นได้

“สำหรับตอนนี้ วัคซีนยังไม่ 100% เนื่องจากมีเพียงประมาณ 7% ของวัคซีนที่​ผ่านการศึกษาเฉพาะในสัตว์ทดลองที่ประสบความสำเร็จเมื่อใช้ในคน วัคซีนที่ผ่านเข้าสู่การศึกษาในคนประสบความสำเร็จเพียง 20% ส่วนวัคซีนที่ผ่านการศึกษาในคนระยะที่ 3 อาจประสบความสำเร็จในการใช้จริงเพียง 50% และนี่ก็เป็นเหตุผลของการที่ต้องผลิตวัคซีนในหลายรูปแบบ ซึ่งคนจากต่างพื้นที่ ต่างวัย ก็อาจตอบสนองต่อการฉีดวัคซีนไม่เหมือนกัน ดังนั้น วัคซีนที่จะพร้อมใช้ให้คนทั่วโลกไม่น่าเร็วไปกว่ากลางปี 2564”

เสนอ 4 แนวทางร่วมกันจัดการกับการแพร่ระบาด

1. ผู้ที่เสี่ยงกับการได้รับเชื้อ

จากการเข้าร่วมหรือสัมผัสกับผู้ที่เข้าร่วมในกิจกรรมที่ท่าขี้เหล็ก ขอให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อ โควิด-19 เพื่อความปลอดภัยของตนเอง ครอบครัว เพื่อนฝูง และสังคม ก่อนรู้ผลตรวจขอให้ป้องกันการแพร่เชื้อด้วยการใส่หน้ากาก ทั้งนอกอาคารและในอาคาร รวมทั้งในบ้าน รักษาระยะห่างกับบุคคล ทำความสะอาดมือบ่อย ๆ บันทึกสถานที่ที่ไปผ่านแอปพลิเคชันไทยชนะ หากผลตรวจพบมีการติดเชื้อให้เข้าสู่กระบวนการที่หน่วยงานราชการกำหนดไว้อย่างเข้มงวด

2. ผู้ประกอบการ

ขอให้ดำเนินการตามข้อกำหนดการป้องกันการแพร่ระบาดที่มีประกาศอย่างเคร่งครัด เพราะมีโอกาสที่ผู้ติดเชื้อจะเข้ารับบริการโดยไม่แสดงอาการชัดเจน จึงจำเป็นต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล จัดให้มีแอลกอฮอล์เจล พนักงานใส่หน้ากากและจัดให้มี QR Code เพื่อเช็กอินแอปฯ ไทยชนะ

3. ผู้เข้ารับบริการ

ขอให้ดำเนินการตามข้อกำหนดการป้องกันการแพร่ระบาดที่มีประกาศอย่างเคร่งครัด เพราะมีโอกาสจะอยู่ใกล้กับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการชัดเจน

4. ประชาชนทั่วไป

ขอให้ดำเนินการตามข้อแนะนำที่มีประกาศจากหน่วยงานราชการ ศบค. อย่างเคร่งครัด การใส่หน้ากากอนามัย ขณะนี้ในสหรัฐอเมริกา มีการแนะนำให้ใส่หน้ากากขณะอยู่ในอาคารด้วย ยกเว้นที่บ้านที่ไม่มีสมาชิกมีอาการผิดปกติ การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีคนรวมกันอยู่มาก ๆ เป็นเวลานาน การใช้แอลกอฮอล์เจลล้างมือบ่อย ๆ การระบุสถานที่ที่ไปผ่านแอปฯ ไทยชนะ หรือให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้เกี่ยวข้อง นอกจากนี้แนะนำเพื่อนร่วมงาน หรือคนรู้จักให้ช่วยกันดำเนินการดังกล่าว

“คนไทยทุกคนมีส่วนสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 จุดอ่อนแม้แต่จุดเดียว อาจส่งผลมหาศาลต่อประเทศ และส่งผลเชิงลบต่อสังคม วัคซีนที่ผลิตยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และผลยังไม่สามารถรองรับได้อย่างเต็มที่”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS