ให้ ผอ.เขต มีอำนาจสั่งการเพื่อหยุดกิจกรรมที่เสี่ยงแพร่เชื้อ สั่งปิดสถานที่เพิ่มเติม คาดเริ่มใช้ 4 ม.ค. ขอให้ประชาชนเตรียมตัว
วันนี้ (1 ม.ค. 2564) คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ออกมาตรการเพิ่มเติมหลังจากพบผู้ติดเชื้อแบบกลุ่มก้อนจากพื้นที่อื่น รวมถึงกลุ่มเสี่ยงในนักเรียนและสถานบริการ ให้ยกเลิกคำสั่งเดิมที่ให้ปิดสถานบริการ และใช้คำสั่งปิดนี้แทน เริ่มมีผลเวลา 00.01 น. ของวันที่ 2 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อใน กรุงเทพฯ ล่าสุด (1 ม.ค.) อยู่ที่ 180 คน
โดยมีคำสั่งปิดสถานที่เพิ่มเติม ได้แก่ สถานบริการ สวนน้ำ สวนสนุก เครื่องเล่น ตู้เกม บิลเลียด ชนไก่ ชนโค กัดปลา พระเครื่อง ศูนย์เด็กเล็ก ร้านสัก โรงเรียน สถานกวดวิชา ร้านอินเทอร์เน็ต สถานดูแลผู้สูงอายุ (ยกเว้นที่พักค้าง) โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ สนามมวย อาบอบนวด สนามแข่งทุกประเภท สถานที่ให้บริการห้องจัดเลี้ยง และที่มีลักษณะคล้ายกัน ส่วนห้างสรรพสินค้ายังไม่ปิด แต่จะมีมาตรการเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ยังกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด 3 เขต คือ หนองแขม บางพลัด และบางขุนเทียน ให้ ผอ.สำนักงานเขตมีอำนาจสั่งการเพื่อหยุดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงแพร่เชื้อได้มากขึ้น และหลังจากนี้จะหารือกับ ศบค. เกี่ยวกับมาตรการขายอาหารแบบนำกลับไปบริโภคที่อื่น เนื่องจาก กรุงเทพฯ มีประชาชนในพื้นที่อื่นเดินทางเข้าออกจำนวนมาก จึงต้องออกมาตรการนี้ให้สอดรับกับพื้นที่อื่นด้วย คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ 4 มกราคมนี้ จึงขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมไว้ก่อน
ผู้ติดเชื้อพุ่งไม่หยุด เพิ่มอีก 279 คน
ส่วนสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันนี้ (1 ม.ค.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลง ว่า วันนี้ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 279 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 273 คน และอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 6 คน เสียชีวิตเพิ่ม 2 คน รวมติดเชื้อสะสม 7,163 คน และเสียชีวิตสะสม 63 คน
สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 257 คน มีประวัติเชื่อมโยงกับ Cluster จ.สมุทรสาคร 3 คน, เชื่อมโยง Cluster จ.ระยอง 2 คน, เชื่อมโยง Cluster พัทยา จ.ชลบุรี 1 คน, มีประวัติสถานบันเทิง สถานที่ชุมชน อาชีพเสี่ยง 16 คน, อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 235 คน, การค้นหาเชิงรุกในแรงงานข้ามชาติ 16 คน และผู้เดินทางจากต่างประเทศ เข้า State Quarantine 6 คน
ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 2 คน คนที่ 1 เป็นชายไทย อายุ 44 ปี อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบประวัติว่าเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 ไปร้านอาหารกึ่งบาร์ในกรุงเทพฯ จากนั้นวันที่ 26-27 ธ.ค. มีอาการไข้ ไอ น้ำมูก วันที่ 28 ธ.ค. มีอาการเหนื่อยหอบ วันที่ 30 ธ.ค. รู้สึกเหนื่อยมากขึ้น จึงไปตรวจที่ ร.พ.เจริญกรุงประชารักษ์ พบออกซิเจนในเลือดลดลงเหลือ 80 ถูกส่งต่อ ICU ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตในวันที่ 31 ธ.ค. ที่ผ่านมา
ผู้เสียชีวิตเพิ่มรายที่ 2 เป็นชายไทยอายุ 70 ปี อ.แม่สอด จ.ตาก มีโรคประจำตัว คือ โรคหลอดเลือดสมอง นอนติดเตียง ประวัติลักลอบเดินทางเข้าไทยผ่านช่องทางธรรมชาติ เมื่อวันที่ 29 พ.ย. จากนั้นวันที่ 4 ธ.ค. มีอาการเหนื่อย และถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลของรัฐ ตรวจพบเชื้อโควิด-19 กระทั่งวันที่ 31 ธ.ค. ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตเวลา 22.00 น.
ส่วนพื้นที่ผบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขณะนี้กระจายในพื้นที่ 53 จังหวัด ซึ่งถือว่ารวดเร็วมาก โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยรายใหม่ คือ จ.ลำพูน และ จ.สระแก้ว ขณะที่ 5 ลำดับ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สะสมมากที่สุด (วันที่ 15 ธ.ค. 2563-1 ม.ค. 2564) ได้แก่ สมุทรสาคร ระยอง กรุงเทพฯ ชลบุรี และนครปฐม