4 ม.ค. เริ่มขีดเส้น งดเดินทางข้ามจังหวัด

ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน โยงบ่อนบางละมุง ศบค. ยกระดับมาตรการเข้ม 1 เดือน กำหนด 28 พื้นที่ควบคุมสูงสุด งดเดินทางข้ามจังหวัด หากไม่ดีขึ้น อาจล็อกดาวน์

วันนี้ (2 ม.ค. 2564) นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 216 คน แยกเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 214 คน และเป็นผู้ติดเชื้อในสถานที่กักกันของรัฐ 2 คน ขณะที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 คน รวมเสียชีวิตสะสม 64 คน

โดยรายละเอียดผู้เสียชีวิต มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ไปบ่อนพนันที่ อ.บางละมุง และมีโรคประจำตัวป่วยเบาหวาน โดยพบว่าติดเชื้อวันที่ 30 ธ.ค. 2563 ขณะนั้นยังไม่มีอาการ จึงเข้ารับการรักษาตัวที่ Hospitel หรือหอผู้ป่วยเฉพาะกิจโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่รุนแรง ในพื้นที่พัทยา กระทั่ง วันที่ 31 ธ.ค. เริ่มมีอาการเหนื่อยหอบ ทีมสอบสวนโรคแนะนำให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลบางละมุง แต่ผู้ป่วยแจ้งว่ามีอาการไม่มากและขอพักที่ Hospitel แต่พบว่าผู้ป่วยเสียชีวิตภายในห้องพัก เมื่อเวลา 03.00 น. ของวันที่ 1 ม.ค. 2564

อย่างไรก็ตาม นายแทพย์ทวีศิลป์ ระบุว่าอัตราการเสียชีวิต ยังอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.9 ของจำนวนผู้ป่วยขณะนี้ แต่คาดว่าอัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มมากขึ้น หากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งสูงขึ้น ส่วนแนวโน้มการระบาด แม้วันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยกว่าเมื่อวานนี้ แต่แนวโน้มของเส้นกราฟยังอยู่ในทิศทางพุ่งสูงขึ้น

ส่วนรายละเอียดของผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้ (2 ม.ค.) จำนวน 182 คน ยังพบมีความเชื่อมโยงกับ Cluster จ.สมุทรสาคร 3 คน, จ.ระยอง 1 คน, เชื่อมโยงพัทยา และ จ.ชลบุรี 1 คน, เป็นกลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 23 คน ส่วนกลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดและเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ที่สุดคือ กลุ่มที่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค จำนวน 154 คน

“พออยู่ระหว่างการสอบสวนโรค Timeline เลยยังไม่เห็น และมีความเสี่ยงที่คนกลุ่มนี้จะไปแพร่เชื้อต่อ จึงขอให้ใครที่ทราบว่าอยู่ใน 154 ให้กักตัวเอง เพราะถือว่าอยู่ในกลุ่มติดเชื้อแล้ว และมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อได้สูงมาก”

โดยในกลุ่มที่อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค เป็นผู้ป่วยใน จ.นนทบุรี 25 คน, จ.สมุทรสาคร 37 คน, จ.ระยอง 27 คน, จ.ชลบุรี 32 คน, จ.จันทบุรี 10 คน และ จ.สมุทรปราการ 23 คน

ส่วนจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อยังอยู่ที่ 53 จังหวัด แต่มีข้อสังเกตว่า แค่ในช่วงครึ่งเดือนหลังของเดือนธันวาคม 2563 จำนวนจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่า

เตรียมเสนอนายกฯ ยกระดับมาตรการ

ในส่วนมาตรการ นายแพทย์ทวีศิลป์ แถลงว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง ศบค. ชุดเล็ก กับ ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข (EOC) ได้มีข้อสรุปร่วมกันว่า การคัดกรองแรงงานข้ามชาติยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การระบาดรอบใหม่ที่น่าจับตามอง คือ กลุ่มก้อนในกรุงเทพฯ ซึ่งเริ่มกระจายหลายพื้นที่ และมีผู้เสียชีวิตโดยไม่สามารถหาความเชื่อมโยงจากศูนย์กลางการระบาดเดิมได้ ทำให้การควบคุมโรคยากขึ้นกว่าเดิม

ทำให้คาดว่าจะมีการแพร่กระจายโรคเพิ่มอีกหลายเท่าตัว และไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคและมาตรการทางสังคมที่เข้มข้นและรวดเร็วที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยมีรูปแบบการแพร่กระจายที่ต้องเฝ้าระวัง ดังนี้

1. ผู้ติดเชื้อหลายคนทราบดีว่าตนเองเดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงหรือร่วมกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่ไม่ยอมกักตัวหรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น หรือไม่เข้าไปปรึกษาแพทย์ ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นในสถานที่ต่าง ๆ

2. ยังมีกิจกรรมลักลอบมั่วสุมโดยผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการพนันเกิดขึ้นโดยทั่วไป ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการระบาด และยังเป็นการมั่วสุมแบบเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งด้วย

นอกจากนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อและมีอาการ ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลมีจำนวนมากขึ้น จนกระทั่งขีดความสามารถทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั้งด้านบุคลากรและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ลดลงจำนวนมาก อีกทั้งยังมีประชาชนบางส่วนขาดความระมัดระวังในมาตรการที่ ศบค. ขอความร่วมมือ ทำให้มีความจำเป็นต้องทบทวนมาตรการในภาพรวม

“ต้องปรับให้มาตรการ นำหน้าการติดเชื้อ เพราะถ้าปล่อยให้เป็นไปตามปกติ แล้ววิ่งไล่ตามหาเตียงมารอผู้ป่วยไม่ได้แล้ว ต้องลดจำนวนผู้ป่วย มาตรการต้องเข้มข้นขึ้น วันนี้ที่ประชุมเลยมีความเห็นตรงกัน และจะนำความเห็นเสนอ นายกรัฐมนตรี”

กำหนดแผนที่มาตรการ

โดยเพื่อให้ทันสถานการณ์ ที่ประชุมจึงกำหนด “แผนที่มาตรการ” ยกระดับความเข้มข้นของสถานการณ์ในแต่ละจังหวัด โดยให้จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงอยู่แล้วก็ให้ยกระดับมาตรการที่เข้มข้นขึ้น ส่วนจังหวัดที่เป็นพื้นที่สีเหลือง ก็เพิ่มมาตรการให้เท่ากับพื้นที่สีส้ม จังหวัดพื้นที่สีขาว ให้ยกระดับมาตรการเท่ากับพื้นที่สีเหลือง ดังนี้

– พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) หรือจังหวัดที่ต้องยกระดับมาตรการให้เข้มข้นสูงสุด 28 จังหวัด ได้แก่ ตาก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ จันทบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง ชุมพร ระนอง และ กรุงเทพฯ

– พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) มี 11 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท  เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และพังงา

– พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) ได้แก่ จังหวัดที่เหลืออีก 38 จังหวัด

กำหนดมาตรการ 2 ขั้น ขั้นแรกเริ่ม 4 ม.ค.2564

ในส่วนของการกำหนดมาตรการ ที่ประชุมให้แบ่งมาตรการเป็น 2 ขั้น โดยมาตรการขั้นที่ 1 เป็นการเอาประกาศ ศบค. ฉบับที่ 5 และ 6 ที่เคยประกาศใช้เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ในช่วงที่เริ่มผ่อนคลายสถานการณ์ของปี 2563 มาใช้ในขั้นแรก แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็จะเอาประกาศ ศบค. ฉบับที่ 1-3 หรือที่มีมาตรการให้ล็อกดาวน์มาใช้อีกครั้ง โดยมีรายละเอียดในแต่ละขั้นดังนี้

ขั้นที่ 1 จำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการ, ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด, ค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทำผิดกฎหมาย, หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก, ขอความร่วมมือไม่เดินทางข้ามจังหวัด, สถานการศึกษาหยุดการเรียนการสอนหรือใช้รูปแบบออนไลน์, ให้มีการ Work From Home ทั่วทั้งพื้นที่ที่ ศบค. กำหนด

มีมาตรการควบคุมการเดินทางของบุคคลที่เดินทางจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด, เร่งการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและการสอบสวนโรคในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อ และพื้นที่เชื่อมโยงที่ได้ข้อมูลจากการสอบสวนโรคของ สธ. ทั้งนี้ ให้เริ่มมาตรการนี้ตั้งแต่ วันที่ 4 ม.ค. 2564 เวลา 06.00 น. ถึงวันที่ 1 ก.พ. 2564 เวลา 06.00 น.

ขั้นที่ 2 จำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการเพิ่มมากขึ้น (รวมทั้งจำกัดการเปิดกิจการบางประเภทด้วย), ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด, เพิ่มความเข้มข้นในการเร่งค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทำผิดกฎหมาย, เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการเดินทางข้ามจังหวัด, สถานศึกษายังคงหยุดการเรียนการสอนเว้นกิจกรรมที่มีความจำเป็น

เร่งรัดและเพิ่มการทำงานแบบ  Work From Home อย่างเต็มขีดความสามารถ, เร่งรัดการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและการสอบสวนโรคในพื้นที่เสี่ยง, กิจกรรม/กิจการที่เสี่ยง, กลุ่มบุคคลที่เสี่ยง, จำกัดเวลาออกนอกเคหะสถาน ในพื้นที่ที่ ศปก. จังหวัดกำหนด ส่วนห้วงเวลาดำเนินการในขั้นตอนนี้ ให้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศบค. เห็นชอบ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายมาตรการฯ ในกรอบเงื่อนไขที่ ศบค. กำหนด

นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า เหตุที่ยังไม่มีการล็อกดาวน์ในช่วงแรก เนื่องจากเลขา สมช. ในฐานะปะธานที่ประชุมบอกเมื่อช่วงเช้าว่า ถ้าย้อนกลับไปดูตัวเลขหลังที่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในช่วงต้นปี 2563 พบว่ามีคนที่ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวจำนวนมาก ดังนั้น แม้จะมียาแรง แต่ก็ไม่สามารถจัดการคนที่ส่อเจตนาทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงยังเน้นการขอความร่วมมือ แต่ที่ไม่ประกาศใช้มาตรการเลย เพราะต้องการให้เวลาผู้ประกอบการและประชาชนได้ปรับตัว จึงให้เวลาถึงวันที่ 4 ม.ค. 2564

ส่วนที่กำหนดห้วงเวลาให้ใช้มาตรการในขั้นแรกนานถึง 28 วัน หรือเกือบ 1 เดือนนั้น เนื่องจากมีนักวิชาการเสนอว่า ต้องเอาจำนวน 14 วัน คูณ 2 หรือต้องควบคุมถึง 2 รอบของการติดเชื้อ จึงอาจจะควบคุมสถานการณ์ได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว