รองรับน้ำเสีย 800 ลิตร/เตียง/วัน แยกที่พักรวมขยะมูลฝอยติดเชื้อ ปิดมิดชิด ย้ำ ผู้ปฏิบัติงานต้องสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย สำหรับผู้ป่วยที่เข้าพัก ต้องสังเกตอาการ วัดอุณหภูมิทุกวัน
วันนี้ (7 ม.ค. 2564) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุม ได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเตรียมรองรับกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อดูแลรักษาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง และผู้ที่ต้องติดตามอาการ ดังนั้น สิ่งที่ต้องเตรียมการเพื่อลดปัญหาที่จะตามมาคือการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม
กรมอนามัย ได้มีหนังสือสั่งการไปยัง 12 ศูนย์อนามัยทั่วประเทศ ให้ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานระดับจังหวัด เพื่อความสะอาดปลอดภัยต่อผู้ป่วยที่เข้าพัก เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชน ล่าสุด ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี และศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ได้ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี และระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก โดยให้คำแนะนำด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามตามแนวทางปฏิบัติ 8 ด้าน ดังนี้
- ด้านสุขาภิบาลอาหาร จัดให้มีสถานที่เตรียม ปรุง ประกอบอาหารที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ
- ด้านน้ำดื่ม น้ำใช้ น้ำดื่มเป็นน้ำบรรจุขวดหรือใส่ในภาชนะที่ปิดสนิทหรืออาจจัดให้มีอุปกรณ์สำหรับต้มน้ำ กรณีน้ำใช้เป็นน้ำประปา ควรมีคลอรีนอิสระคงเหลือที่ปลายท่อไม่น้อยกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร
- ด้านสุขาภิบาลและความปลอดภัยในการซักฟอก มีโรงซักฟอกที่สามารถทำความสะอาดผ้าและทำลายเชื้อโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ใช้สารฆ่าเชื้อที่เหมาะสม หรือซักที่อุณหภูมิน้ำไม่น้อยกว่า 71 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 25 นาที
- ด้านการจัดการส้วมและสิ่งปฏิกูล จัดให้มี ห้องส้วมที่ถูกหลักสุขาภิบาลและปลอดภัย และมีระบบเก็บกักสิ่งปฏิกูลที่ถูกหลักสุขาภิบาล
- ด้านการควบคุมสัตว์และแมลงนำโรค มีระบบการป้องกันและกำจัดสัตว์ แมลงพาหะนำโรคเป็นประจำ
- ด้านการจัดการน้ำเสีย ให้มีระบบบำบัดน้ำเสียที่สามารถใช้การได้ดี รองรับปริมาณน้ำเสีย 800 ลิตร/เตียง/วัน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ฆ่าเชื้อในน้ำทิ้ง โดยตรวจวัดปริมาณคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำทิ้งทุกวัน ให้มีค่าไม่น้อยกว่า 1 มิลลิกรัมต่อลิตร
- ด้านการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ มีบริเวณที่พักรวมมูลฝอยติดเชื้อแยกเฉพาะ โดยต้องมีลักษณะปิดมิดชิดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคและสะดวกต่อการเก็บขนไปกำจัด โดยต้องนำไปกำจัดแบบมูลฝอยติดเชื้อ
- ด้านความสัมพันธ์กับชุมชน โดยต้องมีแนวทางสร้างความรู้ ความเข้าใจ และมาตรการป้องกันด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ชุมชนรับทราบและไม่เกิดข้อขัดแย้งต่อกัน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนามต้องตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าบริเวณที่กำหนด สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยโดยเลือกชนิดให้เหมาะสม และถุงมือ ไม่ใช้มือสัมผัสใบหน้า จมูก ปากของตนเอง ต้องเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ควรล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ หากพบว่ามีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสชาติ เหนื่อยหอบ ให้รีบพบแพทย์ทันที
ส่วนผู้ปฏิบัติงานทำความสะอาดและเก็บรวบรวมขยะ ต้องสวมใส่เสื้อคลุมกันน้ำแขนยาว หรือเสื้อแขนยาว ขายาวและผ้ายางกันเปื้อนปกคลุม ใช้ถุงมือยางหนา รองเท้าบูท พื้นยางหุ้มแข้ง สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยโดยเลือกชนิดให้เหมาะสม แว่นป้องกันตาหรือกระจังกันใบหน้าหลังปฏิบัติงานเสร็จในแต่ละวัน ต้องล้างมือ อาบน้ำให้สะอาดทุกครั้ง และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที