ประมาณการผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง กว่า 1,218 คน ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ทั้ง 3 ฉบับ ย้ำ หลายคดีอาจตกหล่น
หลังสภาฯ ลงมติผ่านความเห็นชอบในวาระแรกต่อร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองจำนวน 3 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข ที่เสนอโดยพรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน (เดิม) และพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2568 ที่ผ่านมา
วันนี้ (17 ก.ค. 68) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า การที่ เพื่อไทย ในฐานะแกนนำตั้งรัฐบาลได้โพสต์ ว่า นิรโทษกรรมครั้งนี้จะเป็นการ “ปลดบ่วงพันธนาการ” ครอบคลุมคดีการเมืองตั้งแต่ปี 2548 -2565 อย่างน้อย 3,254 ชีวิต แม้จะมีการขึ้นอ้างอิงข้อมูลในช่วงท้ายว่าจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, ประชาไท


โดยเฉพาะในยุคการชุมนุมหลังปี 2563 ระบุว่า มีจำนวนผู้จะได้ปลดบ่วงพันธนาการ กว่า 1,683 คนนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งข้อสังเกต ว่า การใช้ข้อมูลในลักษณะดังกล่าวมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปอย่างมาก
อาทิ ตัวเลขผู้ถูกดำเนินคดียุค “ม็อบราษฎร 2563” เป็นเพียงการนำตัวเลขสถิติยอดรวมผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองในยุคปี 2563 ไปหักลบจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ออกไป
นอกจากนั้น สถิติที่พรรคเพื่อไทยนำเสนออ้างอิงถึงเดือน มี.ค. 2568 แต่ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ทั้ง 3 ฉบับที่สภาฯ รับรองนั้น กำหนดช่วงเวลาของการนิรโทษกรรมถึงปี 2565 เท่านั้น ทำให้มีอีกหลายคดีที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาในช่วงปี 2566 จนถึงปัจจุบัน จะตกหล่นไป อาทิ คดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่นำโดยรัฐบาลเพื่อไทย, คดีละเมิดอำนาจศาลของนักกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงปีดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทั้ง 3 ฉบับจะถูกเสนอในนามของการ “สร้างสังคมสันติสุข” และถูกกล่าวอ้างว่าจะคืนเสรีภาพให้กับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองกว่า 3,254 คน
จากประมาณการของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า ยอดผู้ถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 1,977 คน จากจำนวน 1,331 คดี จะมีคดีที่ถูกกล่าวหาในข้อหาซึ่งไม่มีในบัญชีแนบท้ายของร่างนิรโทษกรรมทั้ง 3 ฉบับ อยู่อย่างน้อย 805 คดี คิดเป็นผู้ถูกดำเนินคดีค้างอยู่กว่า 1,218 คน ที่จะไม่ได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมตามกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ หรือได้ประโยชน์เพียงบางส่วน กล่าวคือ บางคดี อาจจะได้นิรโทษกรรมในบางข้อหาแต่ยังมีข้อหาที่จะยังคงอยู่
อีกทั้ง ตัวเลขคดีทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยอ้าง ละเลยคดีจำนวนมากที่เกิดขึ้นในยุครัฐประหารของ คสช. ช่วงปี 2557-2561 ซึ่งพบว่า 2 ข้อกล่าวหาดังกล่าว ก็ไม่ได้ถูกบัญญัติแนบท้ายไว้ในร่างกฎหมายทั้ง 3 ร่างที่สภาฯ ให้การรับรองแต่อย่างใด
ทั้งนี้มีตัวเลขผู้ถูกดำเนินคดีอีกไม่น้อยกว่า 428 คน รวมทั้งในช่วงเวลานี้ ยังมีคดีที่มีปัญหาการนำพลเรือนขึ้นพิจารณาในศาลทหาร ทำให้ไม่ได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม
นอกจากนั้นกลุ่มผู้ต้องขัง ยังพบว่า มีกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองซึ่งเป็นประชาชนทั่วไป ที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง และอาจมีข้อหาเกี่ยวข้องกับอาวุธ ก็จะไม่เข้าข่ายการได้รับการนิรโทษกรรมตามบัญชีแนบท้ายของร่างกฎหมายดังกล่าวแบบที่เป็นอยู่เช่นกัน
ขณะที่ การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่เกิดในช่วงปี 2563 – 2564 ส่งผลให้ผู้ชุมนุมหลายคนต้องกลายเป็นผู้ต้องขังทางการเมือง จากการออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และจากจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในปี 2568 พบว่า ยังคงมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง จำนวนอย่างน้อย 50 คน
แอมเนสตี้ฯ ย้ำความตระหนักสิทธิ-เสรีภาพ ผ่านนิทรรศการ
ขณะที่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ได้มีการจัดนิทรรศการ “Freedom Beyond Walls: นิทรรศการโปสการ์ดและจดหมายเพื่อส่งกำลังใจถึงเพื่อนผู้ต้องขังทางการเมืองในเรือนจำ” จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เพื่อสร้างความตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของทุกคน





- (ภาพ : แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย)
โดยโปสการ์ดในนิทรรศการครั้งนี้ เกิดขึ้นใต้แนวคิด “Unchained Expression” และได้มาจากการจัดการประกวดออกแบบโปสการ์ดฝีมือเยาวชนและบุคคลทั่วไป
แสงเทียน เผ่าเผือก เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์เชิงสาธารณะ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในฐานะคิวเรเตอร์หรือผู้ดูแลจัดทำของนิทรรศการ Freedom Beyond Walls ย้ำว่า สิ่งที่แอมเนสตี้ฯ พยายามทำ ไม่ใช่แค่การไปบอกคนอื่นว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกคืออะไร แต่อยากให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกอยู่ในตัวของทุกคน แล้วจะทำอย่างไรให้เรื่องนี้ถูกนำออกมาใช้ ก็เลยมองว่าศิลปะใช้ในการตีความได้เยอะ คนบางคนอาจจะเก่งเรื่องเขียน เขาก็จะเขียนจดหมาย แต่คนบางคนอาจจะอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อยืนยันว่าสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเรื่องนี้สำคัญ
“ทุกอย่างคือสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้น เรามองว่านี่คือโอกาสที่จะให้เขาได้มีส่วนร่วมกับแคมเปญของเรา และเรามองว่าจากการตีความของคนทั่วไป มันสำคัญต่อการเคลื่อนไหว”

สำหรับนิทรรศการ “Freedom Beyond Walls : จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ชั้น 1 มุมสามเหลี่ยม หน้าร้านกาแฟ ระหว่างวันที่ 15 – 27 กรกฎาคม 2568 เวลา 10:00 – 20:00 น. (ปิดทุกวันจันทร์ ตามเวลาทำการของหอศิลป์กรุงเทพฯ) เข้าชมฟรี