แรงงาน ‘ยานภัณฑ์’ ยังไม่หมดหวังเงินชดเชย แม้รอคอยกว่า 7 เดือน

ไร้เงาตัวแทนนายจ้างมาศาล หลังอัยการส่งฟ้อง แรงงานสุดผิดหวัง แต่ยังไม่หมดหวังรอเงินชดเชยถูกเลิกจ้าง ย้ำ ชีวิตแรงงาน กำลังแย่ จี้ตั้ง ‘กองทุนประกันความเสี่ยง’ คุ้มครองแรงงานในอนาคต หวังไม่ต้องมีใครออกมาประท้วง ขอเงินเยียวยาซ้ำรอยอีก

ภายหลังจากเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2568 อัยการนัดส่งฟ้องนายจ้าง บริษัทยานภัณฑ์ จำกัด กรณีประกาศเลิกจ้าง และไม่จ่ายค่าชดเชยพนักงานตามกฎหมายกำหนด ซึ่งมีลูกจ้างกว่า 80 คน ได้ปักหลักชุมนุมมานานกว่า 7 เดือน ได้เดินทางไปที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อฟังศาลตัดสิน แต่สุดท้ายนายจ้างไม่มาตามนัด 

ตามข้อมูลที่ได้ นายจ้างให้ทนายมายื่นหนังสือขอเลื่อนนัดกับทางอัยการไปเป็นวันที่ 21 ส.ค. 2568 แต่ทางอัยการไม่อนุญาตให้เลื่อน ทั้งนี้ลูกจ้างที่มารอฟังศาลตัดสิน รู้สึกผิดหวังไปตาม ๆ กัน เพราะที่ผ่านมารอได้รับการเยียวยามาตลอด ลูกจ้างทุกคนต่างมีภาระหนี้สิน ค้างจ่ายต่าง ๆ ทั้ง ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ รวมถึงหนี้ธนาคาร จนถึงขั้นบางคนได้รับหมายศาลแล้ว อีกทั้งเดือนสิงหาคมที่จะถึงได้กำหนดเวลาจ่ายภาษี บางคนเสียภาษีหลายหมื่นบาท มีหนังสือทวงถามจากกรมสรรพากรส่งมาแล้วเช่นกัน

ล่าสุด วันนี้ (18 ก.ค. 68) วิมล ห่วงไธสง ตัวแทนอดีตแรงงานยานภัณฑ์ เปิดเผยความคืบหน้ากรณีดังกล่าวกับ The Active ว่า หลังจากที่ทางนายจ้างไม่มาตามนัด ทางอัยการก็แจ้งว่าได้ส่งหนังสือไปที่ สถานีตำรวจภูธรบางแก้วแล้ว เพื่อที่จะดำเนินการนำตัวผู้ต้องหาไปส่งฟ้องให้เร็วที่สุด ตามขั้นตอนของกฎหมายต้องใช้เวลาถึง 15 วัน

วิมล ห่วงไธสง ตัวแทนอดีตแรงงานยานภัณฑ์

“เราก็คาดหวังว่าจะต่อสู้คดี แต่ในส่วนเงินที่นายจ้างจะมาไกล่เกลี่ยหรือเยียวยา ก็ยังคิดหนักอยู่ว่า สุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร จะมีการผ่อนจ่ายกันแบบไหน เพราะมองดูว่าภาระของแรงงานที่ถูกเลิกจ้างตอนนี้บางก็โดนฟ้องแล้ว จากการค้างค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ผ่านมาก็มีการสูญเสียเกิดขึ้น เพราะไม่มีเงินไปใช้จ่ายการรักษาพยาบาลต่อเนื่อง ทำให้เสียชีวิตด้วยโรคประจำตัวระหว่างการเรียกร้องเงินชดเชยบางคนก็ประกันสังคมหมด ไม่มีเงินไปต่อ นี่คือการสูญเสียของลูกจ้างที่ทำให้รู้สึกสะเทือนใจ”

วิมล ห่วงไธสง

สำหรับการเรียกร้องตลอด 7 เดือนนั้น วิมล ยอมรับว่า ได้เข้าไปที่กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ก็เข้าไปเจรจาเพื่อที่จะพบปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งก็มีที่ปรึกษาด้านกฎหมายของกระทรวงแรงงานเข้าพบ ได้พูดคุยถึงปัญหาเรื่องเงินเยียวยา ได้รับคำตอบว่า จะหาทางดำเนินการให้ แต่จะได้หรือไม่ได้ ก็ต้องรอติดตาม หรืออาจจะต้องเข้าพบรัฐมนตรี หรือปลัดฯ อีกครั้ง

การชุมนุมของแรงงานยานภัณฑ์เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยการเลิกจ้าง บริเวณทำเนียบรัฐบาล เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

“จริง ๆ แล้ว ทางกระทรวงแรงงานเอง มีช่องทางช่วยได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะทำหรือไม่ทำ ในกรอบของกฎหมาย ถ้างบกลางไม่เกิน 100 ล้านบาท เจ้ากระทรวงสามารถทำเรื่องได้เลย แล้วให้นายกรัฐมนตรีเซ็นอนุมัติ โดยที่ไม่ต้องผ่านมติ ครม. เรามองงบฯ ตรงนี้ มันเยียวยาพี่น้องเราได้ คำว่าเยียวยาไม่ได้เต็มร้อย เหมือนค่าชดเชย ซึ่งเราก็นำเสนอหางบฯ ไปเยียวยาแรงงานก่อน”

วิมล ห่วงไธสง

ส่วนระยะกลาง ก็อาจจะต้องเป็นหน้าที่ของ สส. ที่จะต้องไปโหวตกันในสภาฯ ใช้งบประมาณประจำปี 2570 ก็ได้ มาช่วยชดเชยแรงงานที่ถูกเลิกจ้างตั้งแต่ปี 2562 

ขณะที่ระยะยาว อดีตแรงงานยานภัณฑ์ เสนอให้ตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง ซึ่งตอนนี้เห็นว่า ได้เปิดรับความคิดเห็นต่อการตั้งกองทุนนี้ ใน ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับ..) พ.ศ. … ซึ่งจะหมดเขตวันที่ 19 ก.ค.นี้แล้ว หากตรงนี้ผ่านไปได้ ก็อาจจะได้เห็นกองทุนประกันความเสี่ยงของลูกจ้าง ต่อให้ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี แต่ก็เป็นการทำเผื่อคนรุ่นหลัง ถ้ามีกองทุนฯ นี้ เมื่อมีเหตุการณ์บริษัทเลิกจ้าง ลูกจ้างจะได้ไม่ต้องออกมาประท้วง อย่างน้อยสังคมจะมองว่ากระทรวงแรงงาน ยังมีเสถียรภาพ ไม่ใช้ออกนโยบายไปเรื่อย แต่ปัญหาเก่าก็ไม่เคยแก้ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active