ฉีดให้กลุ่มเสี่ยง บุคลากรทางการแพทย์ อสม. ทหาร-ตำรวจ ด่านคัดกรองก่อน ‘นพ.ยง’ เผย โควิด-19 จะสงบต้องมีภูมิคุ้มกัน 4 พันล้านคน ทั่วโลก
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรณีการแพร่ระบาดของโรคในโลกนี้ วัคซีนเป็นตัวช่วยยับยั้งการระบาด จนทำให้การแพร่ระบาดยุติ โดยมีหลักการ คือ ให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกัน ไม่ต้องครบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เพียงมีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่ง จะทำให้อำนาจการแพร่เชื้อในสังคมลดลง และท้ายที่สุดจะหยุดการแพร่ระบาด หลักสำคัญ คือ ปกป้องการแพร่ระบาดในชุมชนก่อน โดยให้ครอบคลุมระดับหนึ่ง การได้มาของวัคซีนต้องผ่านการทดลอง และมีความปลอดภัยต่อร่างกายมนุษย์ ซึ่งจะทดลองใน 3 เฟส
นพ.ศุภกิจ ระบุถึงสิ่งที่ต้องพิจารณา คือ 1. คุณสมบัติของวัคซีน 2. ราคาที่เหมาะสม 3. จำนวน และ 4. เวลาที่จะได้รับวัคซีนจากผู้ผลิต ต้องนำมาประมวลและหาทางเลือก เพราะไม่ต้องการให้ไทยมีวัคซีนเป้าหมายเพียงชนิดเดียว ซึ่งต้องเผื่อกรณีต่าง ๆ เช่น อาจไม่ได้ผล ซึ่งต้องเตรียมจัดหาประมาณ 3 ชนิด เพื่อสะดวกต่อการจัดเตรียมวัคซีน เนื่องจากวัคซีนแต่ละชินมีการจัดเก็บและเตรียมแตกต่างกัน
นอกจากนี้ กระบวนการจัดหาวัคซีน ประเทศไทย มีกลไกคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และให้รองนายกฯ ดูแล ได้มอบหมายให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นเลขาฯ และสถาบันโรคติดต่อ กรมควบคุมโรค และ สำนักงานอาหารและยา (อย.) พิจารณาคุณภาพในการนำเข้ามายังไทย และการตรวจสอบคุณภาพ และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจสอบกรณีการนำวัคซีนเข้ามา
ส่วน คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนเพื่อคนไทย นำโดย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีการเจรจานับครั้งไม่ถ้วน ขณะที่ข้อกังวลจากสังคมออนไลน์ พร้อมรับไว้พิจารณา แต่หลายอย่างพบว่ามีความคลาดเคลื่อนและบางส่วนเห็นไม่ตรงกัน เช่น กรณีเอกชนนำเข้านั้น ยืนยันไม่ได้ห้าม แต่ต้องผ่านมาตรฐานของ อย. ขณะที่ กรณีของวัคซีนจาก บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค ของประเทศจีน ซึ่งมีข่าวว่า เอกชนไปซื้อหุ้นเพิ่ม ยืนยันไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งวัคซีนในการจัดหาหลายทาง นั้นทางหนึ่ง คือ ของจีนจำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งมาจากความสัมพันธ์อันดีของไทย-จีน ขณะที่ แอสตร้าเซนเนก้า ของประเทศอังกฤษ ก็มีการเจรจาและขอให้ส่งมอบโดยเร็ว
ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้มีวัคซีนที่ผ่านขึ้นทะเบียนในประเทศตนเอง 5 ชนิดจาก 6 ชนิด คือ 1. วัคซีน บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา/เยอรมนี มีประสิทธิภาพ 95 % 2. วัคซีน บริษัท โมเดอร์นา สหรัฐอเมริกา ประสิทธิผล 94.5 % 3. วัคซีน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ของอังกฤษ/สวีเดน ประสิทธิผล 62- 90 % 4. วัคซีนสปุตนิกวี ของรัสเซีย ประสิทธิผล 92 % 5. ของ Beijing Institute of Biological products ประสิทธิผล 79% และ 6. วัคซีนของ บริษัท ซิโนแวค ของจีน ประสิทธิผล 78 % ซึ่งอยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน
ทั้งนี้ วัคซีนแต่ละบริษัท มีผลข้างเคียงต่างกัน เช่น บริษัท ไฟเซอร์ ผลข้างเคียง คือ ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ มีอาการแพ้ 11 ต่อ 1 ล้านการฉีด
วัคซีน บริษัท โมเดอร์นา มีอาการข้างเคียง คือ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า มีอาการข้างเคียง ปวดบริเวณที่ฉีดชั่วคราว ปวดปวดศีรษะ เป็นไข้ ปวดกล้ามเนื้อ
วัคซีน สปุตนิกวี ยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่นเดียวกับ Beijing Institute of Biological products ยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงที่รุนแรง
บริษัท ซิโนแวค ยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงที่รุนแรง รวมถึงการเก็บรักษาวัคซีนแต่ละชนิดก็แตกต่างกันด้วย
นพ.นคร กล่าวต่อไปว่า ทางกระทรวงฯ ได้ร่วมกันพิจารณาข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่การจองซื้อและจัดหา กรณีวัคซีน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จองซื้อ 25 ล้านโดส ซึ่งจากนั้นจะมีการร่วมผลิต โดยมีกำลังการผลิตราว 200 ล้านโดสต่อปีในไทย สามารถผลิตป้อนประเทศในระดับภูมิภาคได้
การใช้วัคซีนในภาวะเร่งด่วน ผลข้างเคียงที่พบได้ยากในจำนวน 1 ล้านคนขึ้นไป จะพบมากขึ้น ต่างจากช่วงทดลองที่จำนวน 50,000 คน หรือทดลองในจำนวนน้อย วัคซีนทุกตัวจะมีการเก็บข้อมูล และเราได้รวบรวมข้อมูลเพื่อระมัดระวัง และต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลข้างเคียงและผลการยับยั้งการระบาด ลดอัตราป่วย และเสียชีวิต และเก็บข้อมูลด้วย
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การกระจายวัคซีนต้องคำนึงถึงความมั่นคงด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม เทียบเคียงกับประเทศอื่น และสอดคล้องกับสากล โดยยูนิเซฟรายงานว่า ในช่วงแรกวัคซีนจะมีจำนวนจำกัดในช่วงแรก แต่ต่อมาในช่วงไตรมาส 3-4 ของปี 2564 จะเพิ่มขึ้นในไทย ซึ่งเป้าหมายของการให้วัคซีนในระยะแรก คือ ลดอัตราการป่วย และเสียชีวิต โดยฉีดในกลุ่มความเสี่ยงสูงและเสียชีวิต เช่น มีโรคประจำตัว โรคทางเดินหายใจ โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง มะเร็ง เบาหวาน ความดัน และผู้สูงอายุ และ 2. ปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน อสม. ทหาร ตำรวจ ที่ทำหน้าที่คัดกรอง โดยฉีดในพื้นที่เสี่ยงคือ 5 จังหวัด โดยจำนวน 2 ล้านโดส ต้องผ่านการอนุญาตจาก อย. ให้คนละ 2 โดส ฉีดห่างกัน 1 เดือน
นอกจากนี้ ยังต้องต้องเตรียมความพร้อม สถานบริการ บุคลากร ลงทะเบียน จากนั้นจะกระจายไปทั่วประเทศ ประชาชนจะสามารถรับวัคซีนในพื้นที่ใกล้บ้านได้ และในการฉีดจะต้องมีการเตรียมระบบทะเบียน รวมถึงการติดตามผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อให้รับฉีดวัคซีนครบ 2 ครั้ง จะติดตามผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน
การฉีดวันนี้ ฟรี แต่ต้องมีการคุ้มครอง หลังจากนี้ อาจมีอาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งกรมควบคุมโรค และ อย. จะติดตามอาการผู้ฉีดวัคซีนทุกคนเป็นเวลา 4 สัปดาห์ เพื่อติดตามอาการไม่พึงประสงค์และประสิทธิภาพในการลดการติดเชื้อและเสียชีวิต
ขณะที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การได้มาของซิโนแวคจำนวน 2 ล้านโดส ทำมาจากเชื้อตาย ในจีนฉีดให้ประชาชนจำนวนมาก ยังไม่มีรายงานผลข้างเคียงรุนแรง และคาดว่าจะได้ขึ้นทะเบียนในเร็ววัน ในจีนก็เป็นการฉีดในกรณีฉุกเฉิน ขณะที่ของไทยมีระบบซึ่งกรมควบคุมโรคของบประมาณจากรัฐบาล ในกรณีเร่งด่วน 2 ล้านโดส เนื่องจากสามารถเจรจาได้ รวมถึงเจรจา บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ได้ 26 ล้านโดส การจัดหาโดยองค์การเภสัชกรรม เนื่องจากจีนไม่มีตัวแทนจำหน่ายในไทย อภ. จึงเป็นตัวแทนจำหน่ายให้ซิโนแวคในไทย
รวมถึงการตรวจคุณภาพโดย อย. หากเรียบร้อย อภ. จะติดต่อกับจีนในการจัดหาและขึ้นทะเบียนให้ทันภายในวันที่ 14 ก.พ. นี้ หากขึ้นทะเบียน อย. ทัน ก็จะแจ้งออเดอร์ไปจีนและภายในวันที่ 28 ก.พ. จะได้วัคซีนชุดแรกจำนวน 2 แสนโดส และในเดือน มี.ค. จำนวน 8 แสนโดส เม.ย. 1 ล้านโดส และในเดือน พ.ค. ล็อตใหญ่ จำนวน 26 ล้านโดส ของ บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า และอีก 35 ล้านโดส ซึ่งจะครอบคลุมประชากรจำนวนมากซึ่งความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนขณะนี้เป็นไปตามแผน
โควิด-19 จะสงบต้องมีผู้ติดเชื้อ-ฉีดวัคซีน 4,000 ล้านคน ทั่วโลก
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า วัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก ฉีดไปแล้วประมาณ 23 ล้านโดส เมื่อก่อนปีใหม่มีรายงานยอดการฉีดวัคซีนทั่วโลกประมาณ 5 ล้านโดส มาถึงวันนี้ ประมาณ 10 วันถัดมา ยอดการฉีดวัคซีนทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะมีจำนวนมากชนิด ของวัคซีน ที่ผ่านการรับรองให้ใช้
การให้วัคซีนขณะนี้ ยังไม่มีผลลดการระบาดของ โควิด-19 ทั่วโลก การระบาดของทั่วโลกยังคงเป็นจำนวนมาก คงจะถึง 100 ล้านคนในอีกไม่กี่วัน และการเสียชีวิต น่าจะแตะที่ 2 ล้านคน โรคนี้จะสงบจะต้องมีคนติดเชื้อ รวมกับ ฉีดวัคซีน ให้มีภูมิต้านทานอย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรโลก หรือประมาณ 4,000 ล้านคน เป้าหมายยังคงห่างไกล
ขณะที่ประเทศที่ฉีดวัคซีน ต่อจำนวนประชากร มากที่สุดขณะนี้ คือ อิสราเอล ฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 20 % ของประชากร ผลของการฉีดวัคซีนต่อประชากรหมู่มาก น่าจะมีรายงานจากประเทศอิสราเอลก่อน เชื่อว่าในระยะเวลาอันสั้น น่าจะครอบคลุมประชากรได้ตามเป้าหมายของอิสราเอล
ส่วนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศแรกที่ฉีดวัคซีนแล้ว คือ สิงคโปร์ และต่อมา น่าจะเป็นอินโดนีเซีย กว่าจะมาถึงประเทศไทยก็น่าจะมีการฉีดไปแล้วหลายร้อยล้านโดส จำนวนที่ฉีดเป็นวัคซีนของ จีน กับวัคซีน ของตะวันตก มีจำนวนพอ ๆ กัน ของจีนฉีดมากใน 3 ประเทศ คือประเทศจีน UAE และบาห์เรน