แพทย์ชนบท เร่ง หน่วยงานจ่ายงบฯ สู้โควิด-19

จัดซื้อเครื่องช่วยหายใจ ปรับปรุงหอพักผู้ป่วยความดันลบ หลัง ครม. อนุมัติ ตั้งแต่ 29 ธ.ค. ชี้ เป็นปัญหารับมือโควิด-19 แบบราชการไทย

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์เฟซบุ๊ก ชมรมแพทย์ชนบท สะท้อนปัญหาข้อเท็จจริง การรับมือโควิด-19 แบบราชการไทย  ว่าด้วยงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้าง โดยระบุว่า ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก ได้มีการจัดสรรเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนแผนงานเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข จำนวน 4.5 หมื่นล้านบาท แต่ที่ผ่านมา กลับอนุมัติไปเพียง 2.5 พันล้านบาท คงเหลือ 4.24 หมื่นล้านบาท

“ที่เหลือมาก เพราะพอสถานการณ์ระบาดรอบแรกดีขึ้น การอนุมัติงบก็พับชะลอไป ซึ่งเป็นการพับชะลอที่ผิดพลาดมาก เพราะทำให้การเตรียมความพร้อมของโรงพยาบาลต่าง ๆ หยุดชะงัก”

เมื่อเกิดเหตุการณ์ระบาดระลอกสอง คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 โดยข้อเสนอจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อนุมัติเร่งด่วนใน 2 รายการคือ การจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจและการปรับปรุงห้องหรือหอผู้ป่วยในให้มีระบบระบายอากาศ เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในโรงพยาบาล ส่วนรายการอื่น ๆ เช่น รถพยาบาล เครื่องมือแพทย์อื่น ๆ ได้ถูกแขวนไว้ก่อน

แต่จนถึงขณะนี้ ผ่านมาแล้ว 2 สัปดาห์ ก็ยังไม่มีความคืบหน้า โดยชมรมแพทย์ชนบท ระบุว่า เพราะยังต้องรอสำนักงบประมาณแจ้งการจัดสรรงบฯ ไปที่กระทรวงสาธารณสุข จากนั้นกระทรวงสาธารณสุข จึงจะแจ้งลงไปที่โรงพยาบาลที่ได้รับงบฯ แล้วโรงพยาบาลจึงจะสามารถเริ่มทำการจัดซื้อจัดจ้างได้ ซึ่งตามกระบวนการปกติกว่าสำนักงบฯ จะแจ้งมาบางครั้งใช้เวลาถึง 1-2 เดือน กว่าจะทำการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบพัสดุก็อีก 1-2 เดือน

“อยู่ที่วงเงินการมอบอำนาจจากผู้ว่าราชการจังหวัด ถ้าจบที่โรงพยาบาลหรือนายแพทย์ สสจ. ก็ไม่นานมาก แต่ถ้าต้องไปศาลากลาง เวลาก็ช้าไปอีกขั้นตอน กว่าจะมีการส่งมอบสินค้าหรือปรับปรุงห้องเสร็จก็อาจจะอีก 1-3 เดือน เช่นนี้แล้ว งบนี้จะทันสู้ภัยโควิดไหม”

พร้อมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดจัดการอย่างด่วน เพราะเครื่องช่วยหายใจและการปรับปรุงระบบระบายอากาศของห้องและหอผู้ป่วยมีความสำคัญมาก และขอให้สัปดาห์หน้าจบขั้นตอนราชการ เพื่อให้ทางโรงพยาบาลสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้โดยเร็ว

ทั้งนี้ เว็บไซต์ ผู้จัดการออนไลน์ ได้เปิดข้อมูล 10 โครงการ วงเงิน 11,326.2783 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2563 สำหรับโครงการภายใต้แผนงาน/โครงการ “สู้โควิด-19” ด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยถูกปรับลดจาก 35 โครงการ วงเงิน 34,940.8188 ล้านบาท

โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรณีข้างต้นคือ โครงการพัฒนาศักยภาพระบบบริการสุขภาพ รองรับสถานการณ์ ของหน่วยงานส่วนภูมิภาค ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปรับลดจาก 10,633.2247 ล้านบาท เป็น 1,240.46 ล้านบาท เนื่องจากมีบางรายการไม่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการแก่ผู้ติดเชื้อ โดยตรง อาทิ การจัดซื้อเตียงคลอด เตียงผ่าศพ ยานพาหนะ การปรับปรุงทางเดินเชื่อมอาคาร รถบรรทุก รถโดยสาร ครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์

จึงเห็นควรสนับสนุนเฉพาะรายการที่เกี่ยวข้องกับ “เครื่องช่วยหายใจ” เนื่องจากเป็นครุภัณฑ์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการจัดบริการในสำดับแรกไปก่อน สำหรับรายการครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ให้เร่งหารือร่วมกับ สธ. อีกครั้งหนึ่ง โดยในการพิจารณาดังกล่าว นอกจากจำเป็นต้องพิจารณาจัดหาครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้างที่จะสนับสนุนการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19

ประเด็นนี้ ประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้ประสานข้อมูลกับกองบริหาร การสาธารณสุข รับแจ้งว่า โครงการฯ มีการจัดหาเครื่องมือแพทย์และอาคารสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับห้อง negative pressure จะมีวงเงินรวม 1,244.04 ล้านบาท และครุภัณฑ์ที่เป็น “เครื่องช่วยหายใจ” 792.64 ล้านบาท คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรอนุมติให้ดำเนินโครงการฯ ในช่วงแรกเป็นวงเงิน 2,037.6917 ล้านบาท

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว