กสศ. ชี้ โควิด-19 ระลอกใหม่ กระทบความต่อเนื่องด้านพัฒนาการเรียนรู้ ความเหลื่อมล้ำเด็กเมือง-ชนบท ห่างมากกว่า 2 ปีการศึกษา
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยข้อมูล จากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (isee) พบว่า ขณะนี้มีนักเรียนยากจนพิเศษในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกสังกัด ใน 28 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ 143,507 คน จากจำนวนนักเรียนยากจนพิเศษทั่วประเทศ 994,428 คน
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้ติดตามศึกษาปรากฎการณ์ Covid-slide หรือ ภาวะถดถอยของการเรียนรู้อย่างใกล้ชิด พบว่า การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 กำลังก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาใน 2 ประเด็น คือ 1.ปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษา และ 2.ภาวะถดถอยด้านการเรียนรู้ โดยจะยิ่งขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กในเมืองและชนบท มากกว่า 2 ปีการศึกษา ซึ่งการปิดโรงเรียนกำลังส่งผลต่อการเรียนรู้โดยตรง จากปัญญาเดิมเรื่องความแตกต่างด้านทรัพยากร และคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ 28 จังหวัดที่มีการระบาดสูงสุด
เร่งช่วยเหลือเด็กเยาวชนด้อยโอกาส 28 จังหวัด พื้นที่สีแดง
ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า กสศ. ได้จัดให้มีมาตราการเชิงรุกเพื่อเข้าถึงเด็กและเยาวชนกลุ่มยากจนด้อยโอกาสในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มข้น โดยจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษอย่างมีเงื่อนไข รายละ 1,000 บาท จำนวน 143,507 คน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือพิเศษ จากการสำรวจความต้องการของเด็กเยาวชนในพื้นที่ พบปัญหาเร่งด่วน 3 เรื่องสำคัญ คือ
- กลุ่มเด็กเยาวชนยากจนในเขตเมืองที่ผู้ปกครองขาดรายได้ ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้ต้องออกไปทำงาน เช่นเก็บขยะขาย สิ่งจำเป็นในขณะนี้คือปัญหาปากท้อง ความอยู่รอด และยังขาดอุปกรณ์ในการป้องกันตัวเอง
- เด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ยังขาดสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต และอุปกรณ์การเรียนรู้ที่จำเป็นเนื่องจากหลายพื้นที่กลายเป็นพื้นที่ปิด ทำให้ครูไม่สามารถเข้าถึงเด็กได้
- กลุ่มลูกแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กปฐมวัย และประถมศึกษา ยังขาดสิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีวิต อุปกรณ์การป้องกันโควิด-19 และขาดสื่อการเรียนรู้
“กสศ. ได้ทำงานกับเครือข่ายครูทั้งในระบบและนอกระบบ เครือข่ายท้องถิ่นจังหวัด ให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนประกอบด้วย 1. สนับสนุนกลไก อสม. การศึกษา ซึ่งเป็นอาสาสมัครการเรียนรู้ในชุมชน ช่วยครูบริหารจัดการอุปกรณ์ สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตให้แก่เด็กและเยาวชน รวมถึงเฝ้าระวังความเสี่ยงในการหลุดออกนอกระบบการศึกษา 2. จัดแพ็คเกจการเรียนรู้ ในรูปแบบถุงยังชีพเพื่อการเรียนรู้ และอุปกรณ์เสริมทักษะในศตวรรษที่ 21 และ 3. จัดถุงยังชีพและอุปกรณ์จำเป็นในการป้องกันโควิด-19 เบื้องต้นจะเน้นเด็กและเยาวชนในพื้นที่สีแดงเข้ม ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และพื้นที่เสี่ยง อย่าง กทม. ”
ผู้จัดการ กสศ. เพิ่มเติมว่า ในกลุ่มแรงงานด้อยโอกาส และแรงงานนอกระบบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่ออกจากระบบการศึกษาหลังจบการศึกษาภาคบังคับ จำนวนเกือบ 1 ล้านคน ได้มีมาตราการลดผลกระทบผ่านโครงการพัฒนาทักษะอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยทำงานร่วมกับชุมชนและจังหวัด รวม 194 หน่วยพัฒนาอาชีพ และได้ตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือเด็กเยาวชนด้านการศึกษาในภาวะวิกฤติ เพื่อดูแลช่วยเหลือเด็กนอกระบบ และเด็กที่มีแนวโน้มหลุดออกนอกระบบการศึกษา โดยสามารถติดต่อรับความช่วยเหลือได้ที่เบอร์02 0795475 กด 8
ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2564 สถานการณ์เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จะรุนแรงขึ้น