ก้าวไกล แย้ง ชัชชาติ ใช้งบฯ ท้องถิ่นซื้อวัคซีนโควิด-19

กังวล ท้องถิ่นที่ไม่มีงบฯ ประชาชนก็ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็น “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” ย้ำ รัฐบาลต้องเป็นผู้จัดซื้อเองทั้งหมด ภายใต้หลักการ “Vaccine For All”

วันนี้ (14 ม.ค. 2564) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยกรณี ข้อเสนอให้ใช้งบประมาณ กทม. และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชน โดยระบุว่า เห็นต่างกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่เสนอแนวคิดให้ กทม. ใช้งบประมาณ 8,000 ล้านบาท จัดซื้อวัคซีนให้คน กทม. 8 ล้านคน ซึ่งเป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง เช่น เทศบาลนครนนทบุรี และเทศบาลนครแหลมฉบัง ที่จะจัดหาวัคซีนให้ประชาชนในเขตของตนเอง

พิธา ระบุว่า แม้เป็นข้อเสนอที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน และท้องถิ่นก็สามารถจัดการได้ภายใต้กรอบกฎหมาย แต่เห็นว่า หน้าที่นี้ควรเป็นของรัฐบาล พร้อมยกคำอภิปรายของ นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล เมื่อเดือน พ.ค. 2563 ในขณะที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาอนุมัติเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยขณะนั้น พรรคก้าวไกลเสนอให้รัฐบาลไทยจัดงบประมาณ 67,000 ล้านบาท เอาไว้เพื่อจัดหาวัคซีน บนพื้นฐานของหลักการว่าจะต้องฟรีสำหรับประชาชนทุกคน “Vaccine For All”

“เพราะวัคซีนโควิดนั้นไม่ใช่ส่วนเสริมให้คุณภาพชีวิตเราดีขึ้น แบบใครจะทำเพิ่มหรือไม่ทำก็ได้ เหมือนกับการสร้างหอชมเมืองที่แต่ละท้องถิ่นตัดสินใจเลือกเองว่าจะเอางบประมาณไปทำอะไร แต่นี่เป็น “ความจำเป็น” ในสถานการณ์วิกฤต ที่ทุกคนจะต้องได้ฟรี และต้องมีระบบติดตามและวางแผนยุทธศาสตร์ในการฉีดที่ดีมากและต้องเป็นเอกภาพ”

และยังไม่นับว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่วนใหญ่ หรือแทบทั้งหมดในประเทศไทย ยังไม่มีท่าทีชัดเจนว่าจะจัดซื้อวัคซีนให้ประชาชนในเขตตนเองหรือไม่ เพราะมีอีกหลายแห่งที่ขาดงบประมาณเพื่อจัดซื้อวัคซีน กลายเป็นว่าจะมีบางแห่งที่ประชาชนได้วัคซีน บางแห่งไม่ได้ เพราะไม่มีงบประมาณ กลายเป็นระบบ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”

พิธา เห็นว่า เป็นการดีที่สุดที่จะต้องยึดตามหลักการเดิม คือ ให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยในการใช้งบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชนที่มีเหลืออยู่ เพื่อจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพสำหรับประชาชนทุกคนในประเทศนี้ ส่วน อปท. ก็ควรมีบทบาทสำคัญในการร่วมมือกับรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร่วมกันจัดการกระจายวัคซีนไปยังประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากหน่วยงานเหล่านี้มีข้อมูลประชาชนในพื้นที่ละเอียดอยู่แล้ว และอีกบทบาทที่สำคัญยิ่งของ อปท. ในสถานการณ์วิกฤตนี้ คือ การช่วยเหลือ เยียวยา สนับสนุน ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล

“เนื่องจากในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันของประชากร ย่อมมีความต้องการช่วยเหลือแตกต่างกัน ซึ่งท้องถิ่นสามารถจัดการงบประมาณตรงนี้ได้มีประสิทธิภาพและเข้าถึงประชาชนได้ดี เพราะใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่า”

หมอเอกภพ ห่วง ท้องถิ่นแยกซื้อวัคซีน อาจแพงกว่า รัฐบาลรวมซื้อ

ด้าน นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ แสดงความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า ควรต้องคำนึงถึง “ราคา” ด้วย เพราะการจัดซื้อวัคซีนแบบแยกซื้อย่อมจะส่งผลต่อราคาวัคซีนที่จะแพงกว่าการจัดซื้อรวม พร้อมย้ำว่า ยุทธศาสตร์ที่ทางรัฐบาลและ อปท. ทั่วประเทศควรทำงานร่วมกัน คือ รัฐบาลยังควรเป็นผู้จัดหาวัคซีน แต่ต้องกระจายความเสี่ยงของวัคซีนให้มาจากหลายผู้ผลิต มุ่งเน้นผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง และมีจำนวนโดสครอบคลุมการฉีดให้ประชากรทั้งประเทศ 100%

“สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ คือ “ความโปร่งใส” ในการบริหารจัดการ ดังนั้น รัฐบาลต้องเปิดเผยรายละเอียด ตัวเลข หลักเกณฑ์ วิธีการ และเหตุผลในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชน ให้ไว้วางใจการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล เพื่อให้ประชาชนคนไทยกลับมาใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยได้ตามปกติอีกครั้งโดยเร็วที่สุด”

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว