PM 2.5 ฟุ้งทั่ว กทม.

เกินค่ามาตรฐานเกือบทุกพื้นที่ ริมถนนกาญจนภิเษก เขตบางขุนเทียน, ต.ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ และ ต.มหาชัย จ.สมุทรสาคร หนักสุด 111 มคก./ลบ.ม.

เช้าวันนี้ (15 ม.ค. 2564) กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ร่วมกับ กทม. วัดค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานเกือบทุกพื้นที่ โดยตรวจวัดได้ 44 – 111 มคก./ลบ.ม. โดยบริเวณที่พบค่าฝุ่นเกิน 100 มคก./ลบ.ม. หรืออยู่ในระดับที่มีอันตรายต่อสุขภาพ (สีแดง) มีมากถึง 4 พื้นที่ คือ บริเวณริมถนนกาญจนภิเษก เขตบางขุนเทียน, ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ และ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ทั้ง 3 พื้นที่ค่าฝุ่นสูงสุดถึง 111 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือระดับที่มีอันตรายต่อสุขภาพ (สีแดง) มากถึง 3 พื้นที่ ส่วนอีกพื้นที่ คือ บริเวณริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ วัดได้ 108 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ ยังมีอีก 7 พื้นที่วัดค่าฝุ่นได้ระหว่าง 90-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และอยู่ในระดับสีแดงเช่นเดียวกัน คือ ริมถนนสุขุมวิท เขตพระโขนง วัดได้ 91 (มคก./ลบ.ม.), ริมถนนบางนา-ตราด เขตบางนา วัดได้ 99 (มคก./ลบ.ม.), ริมถนนสุขาภิบาล 5 เขตสายไหม วัดได้ 92 (มคก./ลบ.ม.), ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม วัดได้ 92 (มคก./ลบ.ม.), ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ วัดได้ 99 (มคก./ลบ.ม.), เขตดอนเมือง วัดได้ 93 (มคก./ลบ.ม.) และเขตจอมทอง วัดได้ 93 (มคก./ลบ.ม.)

ด้าน ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศ และภูมิศาสตร์สารสนเทศ กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กด้วยแบบจำลอง WRF-chem ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 16 – 18 ม.ค. คุณภาพอากาศใน กทม. และปริมลฑลมีแนวโน้มค่าฝุ่นละอองลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวันที่ 16 จะพบค่าฝุ่นสูงเพียงบางพื้นที่ และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วง 17-18 โดยปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยา ที่เอื้อต่อการลดการสะสมของฝุ่นในพื้นที่ได้แก่ ความเร็วลมที่เพิ่มขึ้น เพดานการลอยตัวของฝุ่นมีแนวโน้มที่สูงขึ้น และสภาพอากาศทีนิ่ง/ลมสงบ ลดลง

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว