หลังกระทรวงแรงงาน มีแนวคิดเรียกเก็บค่าตรวจ 3,000 บาท/คน ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติทั้งในและนอกระบบเกือบ 2 ล้านคนไม่ไปตรวจ คุมโควิด-19 ยากขึ้น
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ เปิดเผยกับ The Active ว่า เตรียมทวงถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสัปดาห์นี้ หลังยื่นหนังสือขอให้ทบทวนค่าใช้จ่ายในการตรวจโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค. แต่ยังไม่มีความคืบหน้า
โดยขณะนี้ ยังมีแรงงานข้ามชาติที่ยังไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เกือบ 2 ล้านคน ทั้งกลุ่มแรงงานที่กำลังต่อวีซ่า และกลุ่มที่กำลังจดทะเบียนใหม่ แม้มีบางส่วนที่อยู่ในกลุ่มตรวจเชิงรุกใน จ.สมุทรสาคร ไปแล้ว แต่ก็มีแค่ประมาณ 40,000 คนเท่านั้น ที่อยู่ในเป้าหมายการตรวจเชิงรุก และในจำนวน 2 ล้านคนนี้ ครึ่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
“ตอนนี้ราคาค่าตรวจยังแพงมาก ถ้าทำให้ราคาถูกลงมาได้ แรงงานก็สามารถจ่ายได้ เพราะถ้ายิ่งเจอผู้ติดเชื้อและนำตัวไปรักษาได้เร็ว ก็จะช่วยทำให้สถานการณ์การระบาดคลี่คลายเร็วขึ้น”
ทั้งนี้ หนังสือของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ระบุว่า เครือข่ายฯ สนับสนุนให้มีการตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค มิให้แพร่กระจาย แต่มีความกังวลว่าการกำหนดค่าใช้จ่ายที่สูงมากถึง 3,000 บาทต่อคน ตามที่กระทรวงแรงงานมีแนวคิดจะเรียกเก็บจากแรงงานข้ามชาตินั้น
เพราะจะทำให้แรงงานข้ามชาติทั้งที่อยู่ในระบบและนอกระบบไม่ไปรับการตรวจสุขภาพและต่ออายุใบอนุญาตทำงานหรือลงตราวีซ่าเพื่อทำงาน ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายมากขึ้น และทำให้การป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ทำได้ยากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในความเป็นจริงอัตราการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ พบว่ามีเพียง 0.2% เท่านั้น ที่จำเป็นต้องตรวจยืนยันด้วยวิธีการ PCR confirm test การเรียกเก็บค่าใช้จ่าย 3,000 บาท ทุกราย จึงไม่เป็นธรรมต่อแรงงานข้ามชาติ
เครือข่ายฯ จึงขอให้ทบทวนการเก็บค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม และมีข้อเสนอว่าเนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19 จึงไม่ควรเก็บค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้เป็นภาระของแรงงาน รวมทั้งยกเว้นการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ดำเนินการขออยู่ต่อในประเทศไทยตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยปรับเป็นรูปแบบการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกในกลุ่มแรงงานข้ามชาติแทน