ผอ.สถาบันวัคซีนฯ ชี้ แอสตราเซเนกา เป็นผู้เลือก สยามไบโอไซเอนซ์ ถ่ายทอดเทคโนโลยีเอง จวก ธนาธร ไม่เข้าใจหลัก “ขาดทุนคือกำไร” ของในหลวง ร.9
จากกรณี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก คณะก้าวหน้า – Progressive Movement ในหัวข้อ วัคซีนพระราชทาน : ใครได้ใครเสีย? เปิดเผยข้อมูลสำคัญ ว่าด้วยการจัดหาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนรายใดรายหนึ่ง พร้อมตั้งคำถามว่าทำไมประเทศไทยได้รับวัคซีนล่าช้า และทำไมรัฐบาลจึงจัดหาวัคซีนได้ไม่ครอบคลุมจำนวนประชากรที่เหมาะสม โดยมีการระบุว่าผู้ถือหุ้นของ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่ความเชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้อนุมัติข้อตกลงนี้ หากมีอะไรผิดพลาด จะสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่ และเมื่อพิจารณาในแง่ผลประกอบการของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ และบริษัทในเครือทั้งหมด ยังไม่มีบริษัทใด ประสบความสำเร็จทางด้านการเงิน ขาดทุนแทบจะทั้งหมด ทั้งที่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ตั้งมาแล้วกว่า 10 ปี นั้น
วันนี้ (19 ม.ค. 2564) นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวถึงกรณีนี้ว่า แผนการจองซื้อวัคซีนคงต่างไปจากสถานการณ์โดยทั่วไป เป็นการจัดการบนความเร่งด่วนและไม่แน่นอน การจองซื้อล่วงหน้า ใช้องค์ประกอบหลายเรื่อง กรณี บริษัท แอสตราเซเนกา ไม่ใช่เป็นการจองซื้อทั่วไป แต่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยผู้ที่จะมารับถ่ายทอดในเวลาเร่งด่วน ต้องพร้อมที่สุด และมีความสามาถ
บริษัท แอสตราเซเนกา ก็ทบทวนบริษัทต่าง ๆ ในไทย ไม่ใช่เจ้าเดียว แต่มีเพียง สยามไบโอไซเอนซ์ ที่มีความพร้อมที่สุด แม้กระทั่ง องค์การเภสัชกรรม ก็ไม่มีความพร้อมเพียงพอ
ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวอีกว่า การที่ประเทศไทยเข้าตามข้อตกลงของบริษัท แอสตราเซเนกา มีหลายประเทศที่ต้องการและแข่งกับเรา แต่ด้วยความพยามของทีมประเทศไทย ใช้การเจรจาและแสดงศักยภาพให้เห็น ซึ่งเดิมสยามไบโอไซเอนซ์ผลิต เพียงแค่ชีววัตถุ รัฐบาลให้งบประมาณสนับสนุนเพิ่ม 500 ล้านบาท บริษัท แอสตราเซเนกา อีก 100 ล้านบาท พร้อมยกระดับเป็นโรงงานผลิตวัคซีน
สยามไบโอไซเอนซ์ คือ สิ่งที่ ร.9 ได้พระราชทานไว้ บริษัทยา ต้องลงทุนเยอะ แล้วสร้างรายได้ไม่เพียงพอ นี่คือหลักปรัชญา ตามแนวพระราชดำริ คือ “ขาดทุนคือกำไร” แต่เป็นการประหยัดงานด้านสาธารณสุข คนที่วิจารณ์ไม่เข้าใจ อย่าใช้ข้อมูลด้านเดียว หรือคิดไปเอง
นายแพทย์นคร ยืนยัน ว่าไม่ต้องกลัวว่าวัคซีนจะไม่มีเพียงพอ เราสามารถผลิตได้เอง เราจะพึ่งพาตัวเองได้ ส่วนการที่ สยามไบโอไซเอนซ์ เข้ามาร่วมถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นเรื่องที่ต้องน่าสรรเสริญ ขณะที่การจองซื้อวัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา และสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นแบบ No Profit, No Loss ผลิตให้ในราคาต้นทุน และจำหน่ายกลับมาในราคาต้นทุน ไม่มีเรื่องของกำไรมาเกี่ยวข้อง เป็นการทำเพื่อให้ได้มาซึ่งวัคซีน รวมถึงมีการถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีในการผลิต
ส่วนการสนับสนุนหน่วยเอกชน ครม. อนุมัติงบประมาณให้กับบริษัทเอกชนและหน่วยอื่น ๆ ที่กำลังศึกษาวิจัยวัคซีน เพื่อเป็นกำลังสำรอง แม้จะช้า แต่ก็มีอยู่ในมือ ซึ่งการตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ 50 % ของประชากร เป็นเพียงเป้าปี 2564 เท่านั้น ปลายปีจะมีการประเมินว่าวัคซีนจะมีเพียงพอต่อประชากรทั้งโลก เพราะฉะนั้น การรีบร้อนเอาวัคซีนมาใช้ อาจจะมีข้อเสีย ต้องใช้ข้อมูลมากกว่านี้ ปัจจุบันจริงอยู่วัคซีนอาจมีผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์ การรีบร้อนไม่ศึกษาข้อมูล อาจจะเกิดผลเสียมากกว่า