เสนอตั้งคณะกรรมการ แก้ปัญหากะเหรี่ยงบางกลอย

ภาคประชาชน นักวิชาการ ขอให้ยุติดำเนินคดีชาวบ้าน ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ระยะยาว แก้กฎหมายที่กระทบสิทธิชุมชน พร้อมผลักดันกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2564 ในเวทีสาธารณะออนไลน์ “จากกะเหรี่ยงบางกลอย ถึงอนาคตกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์” จัดโดย The Acive ร่วมกับ ศูนย์มนุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และภาคีเครือข่าย

อภิสิทธิ์ เจริญสุข ตัวแทนชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี นำเสนอภาพปัญหาหรือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย กว่า 50 คน เดินเท้ากลับบ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดิน เพราะพื้นที่ที่รัฐจัดให้ หลังอพยพชาวบ้านลงมาตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา ไม่สามารถทำกินได้ตามที่รัฐให้คำมั่นไว้ เนื่องจากจัดสรรที่ดินที่เป็นพื้นที่แห้งแล้ง มีหิน ไม่มีน้ำ และบางพื้นที่ซึ่งเป็นส่วนน้อยที่พอจะเพาะปลูกได้ ก็ไม่ได้ทำตามวิถีเดิม อย่างการทำไร่หมุนเวียน ต้องพึ่งพาปุ๋ย สารเคมี ชาวบ้านต้องออกไปทำงานรับจ้าง ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 เข้ามาซ้ำเติมปัญหา ทำให้ไม่มีอาหารเพียงพอ ไม่มีรายได้ การกลับไปที่บ้านใจแผ่นดิน จึงเป็นทางรอด เพราะข้างบน การทำไร่หมุนเวียน ปลูกพืชหลากหลาย ไม่ต้องซื้ออะไร แค่มีเกลือ ยารักษาโรคก็อยู่ได้ แต่ที่เป็นอยู่ข้างล่าง มันไม่สอดคล้องวิถีชีวิตเดิม

“เรามาอยู่อาศัยในพื้นที่ที่เขาอพยพเราลงมา จนถึงตอนนี้ไม่มีการรับรองสถานะ โควิดมา เมื่อเพาะปลูกไม่ได้ ไม่มีอาหาร เรากำลังจะอดตาย ก็ต้องตัดสินใจกลับขึ้นไป มีทั้งผู้หญิง เด็ก และคนกำลังใกล้คลอด ตอนนี้ยังไม่มีการปลูกกระท่อม ส่วนเรื่องเตรียมการเพาะปลูก มีการเตรียมเพาะปลูกจริง เพราะเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของเขา ที่เคยถูกเจ้าหน้าที่ไปเผาบ้านและยุ้งข้าว เป็นพิกัดเดิมที่เคยมีเหตุการณ์ไล่รื้อ ตอนนี้สิ่งที่ชาวบ้านกังวลกันมาก คือ การใช้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เป็นธรรม”

พฤ โอ่โดเชา ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง จ.เชียงใหม่ สะท้อนว่า การทำไร่หมุนเวียน คือวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ สามารถรักษาเมล็ดพันธุ์ไม่ให้กลายพันธุ์ รักษาหน้าดิน ฟื้นป่า ไม่ต้องใช้สารเคมี และพื้นที่ป่าชุมชนยังเป็นพื้นที่หากิน เลี้ยงสัตว์ ทำให้อยู่รอดได้ แต่กฎหมายอุทยาน ป่าสงวน และเรื่องของชั้นลุ่มน้ำ ความลาดชันต่าง ๆ มาครอบทับ จนชาวกะเหรี่ยงอยู่ด้วยตัวเองแทบไม่ได้

“เราพึ่งพาตัวเองได้สูงมาก แต่กลับไม่ส่งเสริม เราไม่ได้ล้าหลัง แต่หลักของธรรมชาติที่เรายึดเป็นฐาน เป็นเรื่องดีอยู่แล้ว ดังนั้น อันไหนดี ก็ควรรักษาไว้ ไม่ทำลายอันเก่า และมาร่วมส่งเสริมเพื่อต่อยอดดีกว่า”

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม นำเสนอหลักฐานการเป็นชุมชนดั้งเดิม โดยนำภาพขวานหินพันปีมาเป็นภาพแรกของการย้ำหลักฐานสำคัญ ว่า อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นป่ามาดั้งเดิม และมีชุมชนอยู่แล้ว เมื่อก่อนมีบางกลอยเดียว คือ บางกลอยบน อยู่มานับพันปีแล้ว ในถ้ำมีขวานหินของคนก่อนประวัติศาสตร์ เป็นขวานหินขนาดใหญ่ ยืนยันได้ชัดเจนว่าชาวบ้านเอามาจากถ้ำที่ใจแผ่นดิน ชัดว่าชาวบ้านอยู่กันมานับพันปี

นอกจากนี้ ยังมีภาพแผนที่กรมทหารปี 2455 ระบุว่า คือ “บ้านใจแผ่นดิน” เป็นชื่อระวางแผนที่ ทำมาหลาย ๆ แผนที่ ก็ยังมีบ้านนี้อยู่ แสดงว่าเป็นที่รับรู้ของรัฐ ปรากฏเสมอมาหลายร้อยปี หลังจากนั้นก็ตั้งเป็นหมู่บ้าน และในปี 2502 รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ บริเวณดังกล่าว เพื่อเยี่ยมกะเหรี่ยงพื้นที่สองพี่น้อง อาจไม่ถึงใจแผ่นดิน แต่มาที่ริมน้ำเพชรบุรี เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป พอปี 2512 ก็มีการออกเอกสาร ออกเหรียญชาวเขาให้ ชาวบ้านที่นี่ก็ได้รับ ปู่คออี้ (โคอิ มีมิ) ก็มอบให้ลูกชายไว้ หมายความว่าเขาเป็นคนไทย

ในปี 2528 ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดกาญจนบุรี ก็เดินสำรวจบริเวณนี้ ยกทีมใหญ่มา นัดชาวบ้านให้นำทาง ในปี 2531 ก็มีการทำเอกสารสำรวจชาวเขา ที่ยืนยันว่าชาวบ้านเป็นคนไทย ตอนนั้นก็เจอปู่คออี้ ที่เกิดปี 2454 เป็นคนที่นี่ มีชาวบ้านทั้งหมดเท่าไหร่ ที่น่าสนใจ คือ ชาวบ้านมักจะอยู่ห่าง ๆ ไกล เป็นหย่อมบ้าน ราว 6 กลุ่ม ต่อมาก็ออกบัตรประชาชนให้

กระทั่งปี 2539 เจ้าหน้าบังคับให้ชาวบ้านลงมา เกิดเป็นบางกลอยล่าง ทั้งที่จริง ๆ มีบางกลอยเดียว พอมาอยู่ก็ลำบากมาก แต่ที่ลำบากที่สุด คือ ปี 2553-2554 ที่ชาวบ้านบางคนกลับไปอยู่ข้างบนเพราะอยู่ไม่ได้ ใช้ยุทธการตะนาวศรีไปเผาบ้านชาวบ้านเป็นร้อยหลัง นำไปสู่การต่อสู้ทางกระบวนการศาล กระทั่งศาลปกครองสูงสุดตัดสินเมื่อปี 2561 บอกว่าชาวบ้านอยู่มาก่อน เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่เป็นปกาเกอะญอในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และยังบอกว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ไม่ชอบเพราะมันผิด 4 เรื่อง

คือ 1. เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกถึงผลเสียหาย 2. เป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็น 3. ไม่ปฏิบัติการตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานฯ ที่ต้องไปติดป้าย ไปชี้แจงก่อน แล้วฟ้องศาล ไม่สามารถจะใช้วิธีนี้ได้ 4. ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 ต้องยุติการจับกุม สิ่งที่ศาลปกครองสั่ง นอกจากจับไม่ได้แล้ว ยังต้องคุ้มครองเขาอีก สุดท้ายศาลบอกว่าความเสียหายนี้เป็นการละเมิดของรัฐ ต้องชดเชยคืนให้ชาวบ้าน

“ฉะนั้นชาวบ้านแก่งกระจานเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เขาก็สามารถกลับไปเมื่อไรก็ได้ เขากลับไปที่บ้านเขา ที่ถูกบังคับย้ายเมื่อ 10 กว่าปีนี้เอง ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมอุทยานฯรัฐต้องปฏิบัติตามนี้ ถ้าไม่ปฏิบัติ ท่านผิดกฎหมาย ไม่ใช่ชาวบ้านผิดกฎหมาย”

สุนี ไชยรส วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า กรณีปู่คออี้ ลุกขึ้นมาฟ้องศาลปกครอง บอกว่า “ฉันลืมตามาป่าก็อยู่ตรงนั้น น้ำนมหยดแรกที่ฉันดื่มก็อยู่ตรงนั้น” ตัวอย่างนี้จะสะท้อนว่า ปู่เกิดปี 2454 ตอนนั้นไม่มีกฎหมายที่ดิน 2497 ก็คือมีบางคนมาอ้างว่าทำไมชาวบ้านไม่ไปหาเอกสารสิทธิ์ แต่ตอนกฎหมายที่ดินออกปู่อายุ 43 ปีแล้ว, สอง คือ กฎหมายอุทยานฯ ออกปี 2504 ตอนนั้นปู่อายุ 50 ปีแล้ว พอมาประกาศอุทยานฯ ปี 2524 ปู่ 70 ปี มันชัดยิ่งกว่าชัดว่า ทำไมปู่และลูกหลานถึงมีสิทธิอันชอบธรรมในการอยู่ในพื้นที่ใจแผ่นดิน การย้ายเขาลงมามันเป็นเรื่องที่ผิดมาก

ข้อเสนอเฉพาะหน้า คือ สิ่งที่ปู่คออี้และลูกหลานทั้งหมดถูกบังคับอพยพ เขามีสิทธิชอบธรรม คำง่าย ๆ ต้องไม่เลือกปฏิบัติ ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เคารพสิทธิชุมชน และจัดการกับคนที่ทำร้ายบิลลี่ รวมทั้งจัดการคนที่มาอพยพเขาด้วยซ้ำ ไม่มีใครถามเลยว่าตอนนั้นใครบ้างที่กระทำต่อชาวบ้านอย่างรุนแรง และเขาต้องมีสิทธิเต็มที่ในการกลับบ้านใจแผ่นดิน

ข้อเสนอต่อกฎหมาย ขั้นแรก ได้มีการพูดถึงมติ ครม. 3 ส.ค. 2553 และ 2 มิ.ย. 2553 ควรเอาไปปฏิบัติตาม, สอง คือ ต้องยกร่างเป็นกฎหมาย เป็น พ.ร.บ. ที่มีอยู่ 3 ร่างแล้วตอนนี้ , นอกจากนั้นต้องทบทวนกฎหมายว่าด้วยป่าที่ล้าหลัง และไม่ยอมรับสิทธิชุมชน

“ตัวอย่างเช่น ชุมชนบ้านภูเหม็น (พุเม้ยง์) จ.อุทัยธานี ประกาศพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมตามมติ ครม. ชาวบ้านที่นี่ถูกประกาศวนอุทยานทับ มีคดีความ ก็มีการพาผู้ช่วย รมว. ลงไป เจรจาในพื้นที่ ก็เพิกถอนวนอุทยานออก และพยายามหาทางไกล่เกลี่ยคดี และประกาศพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม อยากให้เห็นว่าอย่ามาตายตัวว่าอุทยานฯครอบแล้ว ขยับไม่ได้ ฟ้องแล้วขยับคดีไม่ได้ นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นชัดว่าทำได้”

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) เห็นว่า ในเชิงหลักฐานมันไม่มีข้อโต้แย้งอะไรอีกต่อไปแล้ว เหลือแต่เพียงเรื่องมนุษยธรรม ว่าเราจะมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาให้พี่น้องชาติพันธุ์เหล่านี้หรือเปล่า ถ้าได้ศึกษาเรื่องราวของคนท้องถิ่น ถ้ามีการเจ็บป่วยเขาจะกลับบ้าน เพราะบ้านคือที่ที่ปลอดภัย ตอนนี้เขาทนทุกข์มาขนาดไหนตั้ง 20 ปีแล้ว พอเกิดสถานการณ์โควิด มันเป็นฟางเส้นสุดท้ายแล้วการกลับไป เพราะเขารู้สึกปลอดภัยและอยู่ได้ ให้อยู่ที่นี่จะกินอะไร งานไม่มีให้ทำแล้ว แล้วยังต้องมากลัวว่าจะติดโรค การกลับไปที่บ้านเขามันปลอดภัยกว่า มันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ ถ้าเป็นเราเราก็คงกลับครับ กลับไปที่ที่ปลอดภัยและสามารถหาอาหารให้ลูกเรากินได้

เรื่องนี้ตั้งคำถามกับสำนึกของสังคมไทย ว่าเราจะร่วมอยู่กับพี่น้องชาติพันธุ์ในฐานะผู้ที่มีศักดิ์ศรีเสมอกัน เราปล่อยปละละเลยได้ เราจะใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเดียว 20 ปี ในการทดลองนำเขามาอยู่ในบางกลอยล่างมันไม่เวิร์ก ตอนนี้เขายืนยันแล้ว ว่ามาตรการที่เราไปกะเกณฑ์ชีวิตเขามันไม่เวิร์กแล้ว เขาปลุกเร้าสำนึกเราขึ้นมาอีกครั้ง ว่ารัฐควรจะปฏิบัติกับเขาอย่างไร

ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ระบุอีกว่า กลไกลรัฐ มีความแตกต่างกันในแต่ละหน่วยงาน บางหน่วยงานจะร้อนใจ อยากหาทางออก แต่บางหน่วยงานก็ยึดกฎหมายมาก หรือยิ่งไปกว่านั้น คือ มีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง ปัญหานี้ซับซ้อนมาก

“มาตรการเฉพาะหน้า สถานการณ์โควิด ระบบต่าง ๆ มันไม่ปกติ รัฐบาลพยายามออกมาตรการเยียวยาต่าง ๆ แต่คนชายขอบเข้าไม่ถึง เขาไม่ต้องการเรียกร้องเอางบประมาณอะไรไปให้เขา แต่เขาขอกลับใจแผ่นดิน เราให้เขาได้ไหม ถือว่าเป็นการเยียวยาก็ได้ ให้เขากลับไปพึ่งพาตนเอง คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ต้องแบบมือขอความช่วยเหลือใคร”

นายแพทย์โกมาตร กล่าวต่อว่า ย้อนกลับมาที่มายาคติ เรื่องการทำลายป่า อาจารย์ปิ่นแก้ว (รศ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.เชียงใหม่) ไปสำรวจถี่ถ้วน บอกว่าเลื่อนลอยไปเรื่อย มันไม่ใช่ มันเป็นวิถีที่ดูแลความหลากหลายทางชีวภาพด้วยซ้ำไป อย่างโครงการข้าวแลกปลา ที่ชาวกะเหรี่ยงพื้นที่ภาคเหนือส่งให้ชาวเล ชัดว่าเมื่อเขาอยู่กับศักยภาพที่มี มีทรัพยากรเหลือเฟือ สามารถแบ่งปันช่วยเหลือผู้อื่น เรื่องค้ายา เข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่มีประเด็นเลยครับ สังคมควรมองเรื่องนี้ให้ชัดว่าเรามองเห็นพี่น้องชาติพันธ์ุเป็นเพื่อนร่วมชาติ ดำเนินชีวิตร่วมกับเรามา เมื่อเผชิญสถานการณ์คับขันเหนือบ่ากว่าแรง เขาส่งเสียงแล้ว เราควรจะไปดูแลเขาให้ได้

ส่วนมาตรการระยะยาว คือ การขยายผลจากมติ ครม. เราหวังว่าความหลากหลายทางชาติพันธุ์ จะดำเนินอยู่ได้อย่างมีความสุขด้วยวิถีชีวิตนั้น คือ หลักมนุษยธรรม เราไม่อยากให้มองว่า เป็นการละเว้นกฎหมาย แต่กรณีนี้มันชัดเจนว่าการกระทำของรัฐมันทำไม่ได้ทางกฎหมาย เวลาเราต่อสู้ตามกฎหมายมันจะยืดเยื้อ และไม่ตรงตามเจตนาในการแก้ไขปัญหา เราจะทำอย่างไรในเมื่อต่อสู้ทางกฎหมายมาอย่างยาวนานแล้ว เราก็ตั้งคำถามว่า เรามีมนุษยธรรมเพียงพอหรือไม่ในการตั้งใจแก้ไขปัญหา

มานพ คีรีภูวดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล สัดส่วนชาติพันธุ์ อยากให้สังคมเข้าใจว่าประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ประกอบด้วยหลากหลายชาติพันธุ์ โดยตั้งคำถามสั้น ๆ ถ้าย้อนไปสัก 5 อายุคนของแต่ละคน ท่านตอบได้ไหมว่าท่านเป็นเผ่าพันธุ์ไหน สังคมไทยต้องให้ความสำคัญ ยอมรับความเป็นจริงว่าเราอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรม ฉะนั้นการทำไร่หมุนเวียนก็คือการเกษตรนิเวศในเส้นศูนย์สูตรของโลกนี้เท่านั้น มันเฉพาะเขตนี้

“เราต้องเข้าใจความหลากหลาย วัฒนธรรมของสังคมที่อยู่ร่วมกัน ระยะยาว ผมอยากให้สังคมไทย ไม่ว่าจะอยู่ในวัฒนธรรมไหน อยากให้ช่วยกันจินตนาการถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จินตนาการถึงสังคมที่สันติสุขที่ยอมรับสิทธิชุมชน ความหลากหลาย โลกที่ทันสมัย โลกที่ไปไกลมากแล้ว เราต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดในรัฐธรรมนูญให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี”

สำหรับข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาและทางออกในเวทีนี้ ภาคประชาสังคมและนักวิชาการ ต่างเห็นตรงกัน เรียกร้องยุติดำเนินคดี ใช้ความรุนแรงชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่เดินทางกลับบ้านใจแผ่นดิน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เสนอตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่มีตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ โดยมีระดับนโยบายเข้าร่วม รวมทั้งแก้กฎหมายที่กระทบสิทธิชุมชน และผลักดันกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 3 ฉบับ ที่อยู่ระหว่างการยกร่าง รับฟังความคิดเห็น เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณา

ประกอบด้วย 1) ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นร่างที่รัฐบาลมอบหมายให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ยกร่าง ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

2) ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ร่างนี้เป็นร่างที่คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร ยกร่าง อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียด และจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร 3) ร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ร่างนี้เป็นฉบับประชาชน ซึ่งขณะนี้เสนอต่อประธานรัฐสภาหลังวินิจฉัยอนุญาต จากนั้นจะเดินหน้ารวบรวมรายชื่อประชาชนอย่างน้อย 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ

ทั้งนี้ ร่างทั้ง 3 ฉบับ มีสาระสำคัญที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน คือ เพื่อเป็นการส่งเสริม อนุรักษ์ คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งไม่ใช่การให้สิทธิพิเศษกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เป็นส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างมีศักดิ์ศรีเสมอกันของคนไทยทุกกลุ่ม รวมทั้งสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของกลุ่มชาติพันธุ์ในรูปแบบสภาชนเผ่าพื้นเมือง หรือสมัชชากลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย


Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ