10 ปี ‘บิลลี่’… บทเรียนสิทธิ ‘คนอยู่กับป่า’ ที่ยังตามหา ?

ชวนมองบทเรียน ‘บิลลี่’ ถูกบังคับให้สูญหาย เชื่อ จุดประเด็นสังคม หันมาใส่ใจ ทวงถามความยุติธรรม เดินหน้าพัฒนากฎหมายปกป้อง คุ้มครองชาติพันธุ์ ขณะที่รัฐ ยังถูกมอง แค่ปรับตัวในระดับต่ำ นโยบายจัดการทรัพยากร ยังติดกับดักความมั่นคง รวมศูนย์อำนาจ ไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนจัดการทรัพยากรด้วยตัวเอง

วันนี้ (17 เม.ย. 67) เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปีที่ บิลลี่ – พอละจี รักจงเจริญ ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในฐานะนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชุมชนชาติพันธุ์ ถูกบังคับให้สูญหาย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกับองค์กรเครือข่าย จัดงานวัน รำลึกถึงบิลลี่ ที่ชุมชนโป่งลึก-บางกลอย ผ่านหลากหลายกิจกรรม พร้อมมีแคมเปญให้ผู้เข้าร่วมงานได้เขียนจดหมายถึงบิลลี่ ละร่วมกันมองหาแนวทางเพื่อรักษาความทรงจำของบิลลี่ให้คงอยู่ ไปจนถึงเรียกร้องให้คืนความยุติธรรมอย่างแท้จริงให้กับครอบครัว และชุมชนชาติพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ

‘บิลลี่’ หายไป! พร้อมเสียงชาติพันธุ์ที่ค่อย ๆ ดังขึ้นในสังคม

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยกับ The Active ว่าการลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจรัฐ เพื่อเรียกร้องสิทธิที่อยู่อาศัย ที่ทำกินคืนให้กับชุมชนดั้งเดิม ถือเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของบิลลี่ แม้วันนี้เขาไม่อยู่ และยังไม่สามารถเอาตัวคนผิดมาลงโทษได้ แต่ตลอด 10 ปีที่บิลลี่หายไป เขาไม่ได้หายไปเฉย ๆ เพราะทำให้เกิดการตื่นตัวของเครือข่ายชาติพันธุ์ ออกมาเรียกร้องสิทธิ ของตัวเองที่ได้ถูกกระทำ และได้รับผลกระทบจากอำนาจรัฐ นำไปสู่การเรียกร้องจนออกเป็นกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและป้องกันบุคคลสูญหาย ซึ่งการหายตัวไปของบิลลี่ เป็นหนึ่งในหลายกรณีที่ทำให้สังคมตื่นตัวเรื่องนี้ จนกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว

ขณะเดียวกันกรณีบิลลี่ ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งในเหตุผลสำคัญว่าทำไม ต้องมีเครื่องมือเพื่อออกมาคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 70 ก็ระบุชัดว่ารัฐต้องดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ จนนำไปสู่การเรียกร้อง ผลักดันกฎหมายชาติพันธุ์ ที่กำลังอยู่ในการพิจารณาในตอนนี้

“บิลลี่เป็นคนกะหรี่ยง อยู่ในป่า เป็นคนตัวเล็ก ๆ คนนึงในสังคม การหายตัวไปของเขาอาจเป็นแค่ข่าวเล็ก ๆ แต่สังคมกลับให้ความสนใจ เพราะบิลลี่ไม่ได้เป็นเพียงคนที่อยู่นิ่ง ๆ แต่เขาออกไปสัมผัสโลกภายนอก ซึ่งผู้คนก็เห็นความจริงใจของบิลลี่ ที่ไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม พอออกมาเรียกร้องสิทธิ ก็ทำให้เกิดการตื่นตัวของกลุ่มชาติพันธุ์ องค์กรระหว่างประเทศก็ให้ความสำคัญเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐไทยต้องออกมาดำเนินการ เรื่องนี้ต้องขอบคุณดีเอสไอ ที่ให้ความสำคัญ ยืนยันที่จะส่งฟ้องต่อ แม้ในขั้นต้นทางอัยการสั่งไม่ฟ้องข้อหาร่วมกันฆ่าก็ตาม”

สุรพงษ์ กองจันทึก

ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ย้ำว่า การหายไปของบิลลี่ ไม่ได้ทำให้เสียงของกลุ่มชาติพันธุ์หายไปไหน พวกเขายังคงมีตัวตน และได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ฝ่ายรัฐเองกลับเป็นคนที่ยังมองว่าชาติพันธุ์ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย แม้รัฐจะพูดถึงสังคมพหุวัฒนธรรม แต่เอาเข้าจริงก็ยังไม่ยอมรับพหุวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ยังมองแค่ไทยเดียว ไม่ได้นึกวัฒนธรรม ภาษา วิถีชีวิต ของชาติพันธุ์อื่นเท่าที่ควร รัฐมองความเป็นไทยที่ยังไม่หลากหลาย ทำให้การแก้ปัญหาที่มายาคติของรัฐ ยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า แม้มีความพยายามออกกฎหมายแต่ช้ามาก ถ้ามีกฎหมายชาติพันธุ์ออกมา ก็ต้องถือว่าพัฒนาไปอีกขั้นตามหลักการที่ควรจะเป็น

“สังคมไทยเข้าใจชาติพันธุ์มากขึ้นส่วนหนึ่งก็คือกรณีบิลลี่ ยุคก่อนชาวเขาหายไปคนนึง คนไม่ค่อยให้ความสำคัญ ทุกวันนี้คนตระหนักรู้ว่าทุกคนสำคัญเท่ากัน และไม่มีควรมีใครต้องถูกกระทำให้สูญหาย ขณะที่กระบวนการยุติธรรม เข้ามาดูแลเรื่องเหล่านี้ได้ดีพอ ซึ่งทุกฝ่ายก็กำลังเฝ้ารอว่า ผลที่ชัดเจนว่าใครทำให้บิลลี่หายไปจะออกมาตอนไหน จะมีขบวนการเข้ามาดูแลชาติพันธุ์ โดยอาศัยกรณีของบิลลี่ เป็นหนึ่งในขบวนการขับเคลื่อนได้หรือไม่ คือบทพิสูจน์สำคัญนับจากนี้”

สุรพงษ์ กองจันทึก

‘นโยบายจัดการป่า’ ที่รัฐไทย ไม่เคยย้อนดูบทเรียน

สอดคล้องกับ ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ยอมรับว่า ในช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ คือช่วงเวลาที่รัฐไทย ใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับชุมชนชาติพันธุ์ในเขตป่า ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นกับบิลลี่ ก็ถือเป็นเหตุการณ์ที่ปะทุก่อนการเข้ามาของ คสช.ไม่นาน ซึ่งหลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่ยุค คสช. ก็มีนโยบายที่เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายทวงคืนผืนป่า ทำให้กระแส และวิธีคิดเรื่องการอนุรักษ์จัดการทรัพยากรป่าไม้ ถูกใช้อำนาจมากขึ้นกว่ายุคก่อนหน้า จึงทำให้มีปฏิบัติการกับชุมชนในเขตป่า ทั้งมิติการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ปราบปราม คดีบุกรุกป่าที่เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นบริบทสำคัญในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์หายตัวไปของบิลลี่

“ปมของการที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ แก่งกระจาน ควบคุมตัวบิลลี่ เรื่องหนึ่งคือเขาครอบครองน้ำผึ้งป่า นำไปสู่การถูกจับกุม และตั้งแต่มาก็ไม่มีใครพบเห็นบิลลี่อีกเลย เรื่องน้ำผึ้งจึงสะท้อนได้ชัดเจนว่า ในยุคที่ผ่านมาวิธีคิดเรื่องของชุมชนในป่า การอยู่ร่วมกับทรัพยากร การอาศัยฐานทรัพยากรในป่าเพื่อดำรงชีวิต และใช้ประโยชน์ สวนทางกับระบบวิถีชีวิตชุมชน คนอยู่กับป่าอย่างสิ้นเชิง การพึ่งพาของป่าจริง ๆ มีระดับของการใช้ประโยชน์ แต่พอมาอยู่ในระบบกฎหมาย ก็มีประเด็นให้ชาวบ้านถูกจับกุม ถูกดำเนินคดีได้ตลอดเวลา ยิ่งในบริบทพื้นที่ อย่างชุมชนบางกลอย ซึ่งมีประเด็นการใช้กฎหมายอย่างเขม็งเกรียว มีปมขัดแย้งกันมาก่อนด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นเงื่อนไขให้พื้นที่นั้นอยู่ในเขตอำนาจ ซึ่งเป็นเรื่องง่ายมากที่ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบ”

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์

‘ชุมชน คนในป่า’ ในสายตาภัยคุกคาม ‘ความมั่นคง’ ?

ธนากร วิเคราะห์ด้วยว่า ตั้งแต่อดีตชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ชุมชนบางกลอย เป็นตัวแทนของการต่อสู้เพื่อสิทธิชนชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมืองมาตลอด ก่อนหน้าการต่อสู้ของบิลลี่ สมัยปู่คออี้ ก็มียุทธการเอาคนออกจากป่า โดยใช้กำลัง เผาทำลายที่อยู่ รื้อที่ดินทำกินของชาวบ้าน ไล่ให้พวกเขาออกมาจากป่า จนมีข้อสังเกตว่าในพื้นที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ในป่าแก่งกระจานซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมของพวกเขา มีการเจือปนแนวคิดความมั่นคงในอดีตที่เข้มข้นสูงมาก การจัดการป่าในกรณีแก่งกระจาน จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ไปไม่พ้นกรอบภัยความมั่นคงยุคสงครามเย็น และวิธีคิดแบบนี้ ยังผสมอยู่ในทุกอุทยานแห่งชาติ ทั้ง ๆ ที่การดูแล จัดการป่า ต้องคำนึงถึงเรื่องการอยู่อาศัยของคน สัตว์ การดำรงรักษาการมีชีวิตอยู่ของทรัพยากรร่วมกัน วิธีคิดความมั่นคงแบบทหาร เมื่อเอามาใช้กับประเด็นการจัดการทรัพยากร จึงกลายเป็นการใช้อำนาจที่ก่อผลกระทบกับชุมชนในป่า  

ที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการการที่ดินฯ ยังมองว่า หลังบิลลี่หายไป อยู่ในช่วงที่สังคมเริ่มตื่นตัวกับสังคมการเมืองสูงมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยจากรัฐบาลที่นำโดยทหาร ในช่วงหลังจากนั้น เลยทำให้ประเด็นที่บิลลี่ถูกกระทำ ตรงกับความรู้สึก การที่คนรุ่นใหม่มองเห็นความไม่ยุติธรรม การใช้อำนาจของภาครัฐ ต่อกรณีของบิลลี่ จึงเกิดขบวนการตื่นตัว เคลื่อนไหวของกลุ่มคนชายขอบร่วมกับคนรุ่นใหม่ ผ่านกรณีบิลลี่ กรณีชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จนทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่า ที่ผ่านมานโยบายภาครัฐ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งก็ไม่ต่างจากปัญหาร่วมของชาติพันธุ์ในแทบทุกพื้นที่ ที่ยังถูกบังคับ ถูกกดขี่ด้วยนโยบายการจัดการทรัพยากรของรัฐไทย ตั้งแต่พื้นที่ภูเขา ป่าไม้ ไปจนถึงทะเล ชายฝั่ง เป็นข้อจำกัดที่ไปไม่พ้นเรื่องความมั่นคง ชีวิตผู้คนจึงถูกบีบคั้น สูญเสียสิทธิขั้นพื้นฐาน

“กรณีบิลลี่ และชุมชนบางกลอย ทำให้สังคมหันมามองไม่ใช่แค่สิทธิชนชาติพันธุ์ แต่มองสิทธิขบวนการเคลื่อนไหวด้วย ถ้ามองในมุมของภาครัฐ ก็ชี้ให้เห็นว่า บทเรียนกรณีบิลลี่ รัฐก็ปรับตัวอยู่บ้าง แต่ปรับในฐานะของการเปิดช่องทางกฎหมายฉบับใหม่อนุญาตให้กลุ่มคนเหล่านี้ มีช่องทางอยู่อาศัยในป่าได้ แต่ก็ยังเต็มไปด้วยข้อจำกัด ถือว่ารัฐปรับตัวระดับขั้นต่ำที่สุด เพราะแม้มีกฎหมายใหม่ ๆ เปิดช่องมากขึ้น แต่ทุกอย่างก็ยังขาดการมีส่วนร่วม ขณะเดียวกันภาครัฐ ก็ปรับตัวว่าต่อจากนี้อาจไม่สามารถใช้ความรุนแรง ไล่คนออกจากป่าได้อีก ภายใต้การอนุญาตแบบมีเงื่อนไข ซึ่งเชื่อว่าการปรับตัวของรัฐแค่นี้ ไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา เพราะการปรับตัวของรัฐก็ยังอยู่ภายใต้โครงสร้าง วิธีคิดแบบเดิม คือ รัฐเป็นศูนย์กลางอำนาจ เป็นกลไกหลักควบคุม กำกับพื้นที่ในป่า อยู่บนวิธีคิดจากอำนาจรัฐส่วนกลาง ไม่ได้มีมโนทัศน์ใหญ่ หรือมีทัศนคติให้อำนาจชุมชนจัดการทรัพยากรได้อย่างเต็มที่”

ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์

10 ปีที่ ‘บิลลี่’ ไม่อยู่

  • 17 เมษายน 2557

บิลลี่ ขี่รถจักรยานยนต์ออกจากบ้านบางกลอย ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัว บริเวณด่านมะเร็ว โดยอ้างว่ากระทำผิดกฎหมาย มีน้ำผึ้งป่า 6 ขวด ไว้ในครอบครอง

‘ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร’ หัวหน้าอุทยานฯ ในขณะนั้น พาตัวบิลลี่ พร้อมรถจักรยานยนต์ ออกจากด่านมะเร็วไป และอ้างว่าเขาได้ปล่อยตัวบิลลี่ระหว่างทาง แต่ก็ไม่มีหลักฐานใด ๆ บ่งชี้ได้ว่ามีการปล่อยตัวบิลลี่ไปจริงหรือไม่ หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีใครเจอตัวบิลลี่อีกเลย

  • 18 เมษายน 2557

มึนอ ภรรยาของบิลลี่ พบว่าสามียังไม่กลับบ้าน จึงไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน และออกค้นหาตามสถานที่ต่าง ๆ แต่ก็ไม่พบร่องรอย

  • 24 เมษายน 2557

มึนอ พร้อมด้วยทนายความ ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอไต่สวนฉุกเฉิน เนื่องจากเชื่อว่าบิลลี่ยังคงถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่อุทยานฯ หลังใช้เวลาพิจารณากว่า 1 ปี ครึ่ง สุดท้ายทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ยกคำร้อง

  • 16 มกราคม 2560

กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI มีมติไม่รับกรณีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ โดยให้เหตุผลว่า มีการสืบสวนคดีนี้แล้วกว่า 2 ปี แต่ไม่มีความคืบหน้า และมึนอ ผู้ยื่นคำร้องไม่ใช่ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในคดี

  • 28 มิถุนายน 2561

คณะกรรมการคดีพิเศษ มีมติรับกรณีบิลลี่เป็นคดีพิเศษ โดยหลังจากนั้นมีการสอบพยานเพิ่มเติมหลายปาก

  • 27 สิงหาคม 2562

ครอบครัวบิลลี่ พร้อมทนายความ ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้มีคำสั่งให้บิลลี่เป็นบุคคลสาบสูญ หลังจากบิลลี่หายไปอย่างไร้ร่องรอยมานานกว่า 5 ปี

  • 3 กันยายน 2562

DSI แถลงข่าว เชื่อว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้ว หลังตรวจพบชิ้นส่วนกระดูกบริเวณศีรษะ ซึ่งมีสารพันธุกรรม (DNA) สัมพันธ์กับแม่ของบิลลี่ และพบถัง 200 ลิตร ลักษณะมีการเจาะรู และมีรอยดำไหม้บางส่วน รวมถึงพบเหล็กเส้น 2 เส้นอยู่ใต้ถัง โดยหลักฐานทั้งหมดตรวจพบจากก้นอ่างเก็บน้ำ ติดที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

  • 11 พฤศจิกายน 2562

DSI ขออนุมัติหมายจับ ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพวกรวม 4 คน ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง โดยในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ชัยวัฒน์ และพวกรวม 4 คน ได้เข้ามอบตัว ก่อนที่ทั้งหมดจะได้รับการประกันตัวในวันเดียวกัน ซึ่งต่อมา DSI ได้สรุปสำนวน “คดีบิลลี่” ส่งให้พนักงานอัยการ รวม 6 ข้อหา

  • 23 มกราคม 2563

พนักงานอัยการมีหนังสือถึง DSI เรื่องสั่งไม่ฟ้อง ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กับพวกรวม 4 คน ในข้อหาอุ้มฆ่า โดยชี้แจงว่า ไม่มีประจักษ์พยานและพยานแวดล้อม ที่จะเชื่อมโยงว่าผู้ต้องหาได้ร่วมกันกระทำผิด จึงเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง โดยสั่งฟ้องเพียงข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

  • 18 มกราคม 2565

DSI ส่งข้อมูลการสอบสวนเพิ่มเติมใน 4 ประเด็น ให้สำนักงานอัยการสูงสุด หลังก่อนหน้านี้ ได้ทำความเห็นแย้งส่งให้อัยการ และอัยการส่งเรื่องให้ DSI ทำการสอบสวนเพิ่มเติม

  • 10 สิงหาคม 2565

อัยการสูงสุด ลงนามในความเห็นสั่งฟ้อง ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวกรวม 4 คน ใน 4 ข้อหา โดยหนึ่งในนั้นเป็นข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

  • 5 กันยายน 2565

DSI นำตัวอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพวกรวม 4 คน ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เขตตลิ่งชัน กทม. โดยศาลมีคำสั่งรับฟ้อง แต่ให้ประกันตัวในวงเงินคนละ 800,000 บาท

  • 28 กันยายน 2566

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษา จำคุก ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร  3 ปี ข้อหามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนจำเลยคนอื่น และข้อหาอื่น ให้ยกฟ้อง ปัจจุบันอยู่ระหว่างสู้คดีในชั้นอุทธรณ์

  • 4 เมษายน 2567

มึนอ พร้อมครอบครัวบิลลี่ ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต่อศาลแพ่ง กรณีเจ้าหน้าที่ในสังกัด กระทำละเมิดต่อชีวิตร่างกายของบิลลี่ เรียกค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงินกว่า 26 ล้านบาท โดยศาลแพ่งรับฟ้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active