‘นักวิจัยแรงงาน’ ติงค่าขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ แพง​

ซ้ำเติมปากท้อง​แรงงาน​ข้ามชาติ ไม่ดึงดูดแรงงานเถื่อน​กลับเข้าระบบ​ แนะ ตัดค่าใช้จ่าย​ หรือให้ผ่อนชำระ​ ช่วยเหลือแรงงาน​ท่ามกลางโควิด-19

เมื่อวันที่ 21​ ม.ค.​ 2564​ ชลนภา อนุกูล นักวิจัยสมทบ หน่วยปฏิบัติการวิจัยความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ เปิดเผยกับ The Active ว่า​ หลังแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาครติดเชื้อโควิด-19 เป็นกลุ่มก้อนใหญ่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำแรงงานผิดกฎหมายทั้งหมดเข้าสู่ระบบ เพื่อติดตามและควบคุมโรค เป็นที่มาของการนำเสนอแนวคิดเรื่องนิรโทษกรรมแรงงานข้ามชาติ กระทั่งล่าสุด กระทรวงแรงงาน เปิดให้แรงงานทุกประเภท ไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฎหมายมาขึ้นทะเบียนออนไลน์ นั้น

แต่การขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ที่ค่าใช้จ่ายรวมแล้วเกือบ 9,000 บาทต่อคน แบ่งเป็นค่า work permit หรือใบอนุญาตทำงาน 1,900 บาท ค่าตรวจสุขภาพ 3,200 บาท และค่าตรวจโควิด-19 ที่เพิ่มเข้ามาอีก 3,000 บาท ท่ามกลางภาวะวิกฤตโค​วิด-19 ที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ จนถึงปัญหาปากท้องของแรงงานข้ามชาติ เป็นการซ้ำเติมและไม่สามารถที่จะดึงดูดแรงงานข้ามชาติมาขึ้นทะเบียนได้ครบ จึงมีข้อเสนอว่าควรตัดค่าใช้จ่ายบางส่วนออก เช่น ค่าตรวจโควิด-19 และหากรัฐบาล​ยังยืนยันจะคงค่าใช้จ่ายสูงเช่นนี้ ก็ควรให้มีการผ่อนจ่ายเป็นปีหน้า เพื่อช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ ที่ประสบปัญหาปากท้อง และดึงดูดให้ขึ้นทะเบียนได้ครบทั้งหมด

ทั้งนี้ พบข้อสังเกตว่าค่าใช้จ่ายในการตรวจโควิด-19 ที่เพิ่มเข้ามา อีก 3,000 บาท สะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง โดยไม่สามารถหางบประมาณส่วนอื่นมารองรับการตรวจโควิด-19 ของแรงงานข้ามชาติ ทั้งที่ยังมีกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ซึ่งพบว่าผลประกอบการในปี 2563 สามารถจัดเก็บเงินได้จากผู้ประกอบการที่ต้องจ่ายค่าหลักประกันให้กับแรงงานข้ามชาติ หัวละ 1,000 บาท มีเงินหมุนเวียนในกองทุนฯ กว่า 900 ล้านบาท งบประมาณส่วนนี้ 600 ล้านบาท ถูกใช้ ไปในส่วนกรมการจัดหางาน และอีกที่เหลือใช้ไปในส่วนของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่ในช่วงโควิด-19 ระบาด ยังไม่มีการเบิกจ่ายไปเพื่อการสาธารณสุข ทั้งที่เป็นเป้าหมายของกองทุนฯ โดยตรง

นอกจากนี้ ยังมีเงินที่เก็บจากประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติเดือนละ 500 บาท สะสมถึงหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งมากเพียงพอที่จะใช้สำหรับการตรวจโควิด-19 ก็ไม่ถูกนำมาใช้

สำหรับพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง มีสัดส่วนการส่งออกและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงมาก โดยมีแรงงานข้ามชาติเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ความกังวลของผู้ประกอบการซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมอาหาร จึงต้องการให้แรงงานข้ามชาติของตนฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจกับลูกค้า เพราะหากพบผู้ติดเชื้อในโรงงาน ก็อาจถูกยกเลิกการสั่งจองได้ ที่ผ่านมา จึงมีความพยายามของผู้ประกอบการที่ต้องการจะซื้อวัคซีนฉีดให้กับแรงงานของตน ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาราคาระหว่างการซื้อวัคซีนและการตรวจโควิด-19 พบว่าการซื้อวัคซีนมาฉีดจะถูกกว่า

นักวิจัยแรงงาน​ ยังตั้งข้อสังเกตว่า แม้แผนการฉีดวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข จะระบุกลุ่มเสี่ยงที่ต้องฉีดวัคซีนเป็นผู้สูงอายุ แต่เมื่อพิจารณาแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในพื้นที่ ก็ต้องยอมรับว่าแรงงานข้ามชาติไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงทั้งหมด แต่หากแยกประเภทของแรงงานข้ามชาติออกมา ภาคการเกษตร ภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรม ส่วนไหนเสี่ยงที่สุด ก็ควรจะได้รับวัคซีนเช่นกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS