รธน. 60 กำหนดให้ชี้แจงแทนรัฐหากมีเหตุละเมิดสิทธิ ‘SCA’ ชี้ ไม่เคยปรากฏว่ามีประเทศใดที่กฎหมายกำหนดให้สถาบันสิทธิฯ แห่งชาติ ทำหน้าที่นี้
เมื่อวันที่ (22 ม.ค. 2564) สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยแพร่ข่าวคณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation-SCA) มีมติเลื่อนการพิจารณาผลประเมินสถานะจาก B เป็น A ของ กสม. ไปอีก 18 เดือน หลัง กสม. ถูกลดสถานะตั้งแต่ต้นปี 2559
มติเลื่อนพิจารณาครั้งนี้ มีขึ้นหลังจาก กสม. เข้ารับการประเมินเพื่อขอเลื่อนสถานะจาก B เป็น A ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 และเข้ารับการสัมภาษณ์แบบทางไกลเพื่อประกอบการประเมินสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ SCA ภายใต้กรอบความร่วมมือของเครือข่ายพันธมิตรระดับโลก ว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Global Alliance for National Human Rights Institutions: GANHRI) เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2563
หลังทราบผลมติดังกล่าว กสม. ได้สอบถาม Phillip Wardle ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายของเครือข่ายความร่วมมือสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Forum of National Human Rights Institutions: APF) ซึ่งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่สมาชิกสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับคำยืนยันว่า การเลื่อนการพิจารณานั้น ถือเป็นท่าทีที่เป็นผลลัพธ์ที่ดีที่สุดที่เคยมีมาของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลก ที่ขอเข้าประเมินเลื่อนสถานะจาก B เป็น A ในสถานการณ์ เช่น กสม.
เพราะ SCA ได้พิจารณาถึงการดำเนินงานในช่วงหลังของ กสม. รวมถึงการตอบข้อข้องใจหลายประการของ SCA เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ กสม. และการเลื่อนการพิจารณาออกไปก็เพื่อให้ กสม. ได้มีโอกาสดำเนินการแก้ไขข้อห่วงกังวลบางประเด็นของ SCA เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งเชิงสถาบันและประสิทธิผลตามหลักการเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ หลักการปารีส (Paris Principles) มากยิ่งขึ้น
เขาได้แจ้งเพิ่มเติมด้วยว่า ปัญหาที่สำคัญที่ทำให้ต้องเลื่อนการพิจารณาออกไปนั้น คือ หน้าที่และอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (4) ที่กำหนดให้ กสม. ต้องชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้า ในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม
ซึ่งไม่เคยปรากฏว่ามีสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติใดที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ในลักษณะดังกล่าว โดย SCA มีความกังวลว่าบทบัญญัติดังกล่าวจะลดทอนความเป็นอิสระที่แท้จริงหรือที่สาธารณะรับรู้ (actual or perceived independence) ดังนั้น ในระยะเวลา 18 เดือน SCA หวังว่า กสม. จะได้ดำเนินการอย่างเต็มกำลังที่จะให้มีการยกเลิกบทบัญญัติข้อดังกล่าว
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นเกี่ยวกับบทบาทของ กสม. ในการไกล่เกลี่ย ซึ่ง SCA มีความเห็นว่า หาก กสม. สามารถแสวงหาข้อยุติที่เป็นมิตรและเป็นความลับผ่านกระบวนการแก้ไขทางเลือกอื่น ซึ่งรวมถึงอำนาจในการแสวงหาข้อยุติของข้อพิพาทโดยสมานฉันท์ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ย จะช่วยให้ กสม. ได้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการเพิ่มประสิทธิผลในการดำเนินงานของ กสม.
ด้าน ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ กสม. ก็ได้เคยแสดงความห่วงกังวลและมีหนังสือไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า บทบัญญัติตามมาตรา 247 (4) อาจไม่สอดคล้องกับหลักการปารีส แต่ไม่ประสบผล
อย่างไรก็ดี ทั้งก่อนการให้สัมภาษณ์กับ SCA และหลังจากทราบความเห็นของ SCA ก็ได้มีการติดต่อประสานงานไปยังฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารในระดับต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับทราบร่วมกันถึงข้อห่วงกังวลของสากล เพื่อร่วมกันสนับสนุนให้ กสม. อันถือเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สามารถคืนกลับสู่สถานะ A โดยการยกเลิกมาตรา 247 (4) อันเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในประเทศและสังคมโลกในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม.
“กสม. ชุดปัจจุบันซึ่งถือเป็นชุดรักษาการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 และตนในฐานะผู้ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุดที่จะให้ กสม. กลับคืนสู่สถานะ A และโดยที่ปัจจุบันยังอยู่ในกระบวนการสรรหาและแต่งตั้ง กสม. ชุดใหม่ จึงหวังว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะได้รีบดำเนินการ”
ทั้งนี้ มาตรา 247 (4) ของรัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีหน้าที่ “ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม” ซึ่งเนื้อหาดังกล่าวได้ถูกตั้งคำถามและคัดค้านจากองค์กรสิทธิมนุษยชน มาตั้งแต่ในขั้นตอนการยกร่างฯ ว่า ทำลายหลักการความเป็นอิสระขององค์กรคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่จะต้องไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายบริหารหรือองค์กรทางการเมืองใด ๆ
แต่การบัญญัติหน้าที่ดังกล่าว ทำให้ กสม. กลายเป็นมีหน้าที่ต้องชี้แจงแทนหน่วยงานรัฐ ทั้งที่ควรทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในเหตุการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นมากกว่า ขณะที่หน้าที่ในการชี้แจงดังกล่าว มีกระทรวงการต่างประเทศหรือหน่วยงานรัฐบาลดำเนินการอยู่แล้ว
นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ ฉบับปี 2550 ก็ยังไม่มีการบัญญัติหน้าที่นี้แต่อย่างใด แต่การคัดค้านดังกล่าวไม่เป็นผล และถูกบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2560 ในที่สุด ซึ่งการลดสถานะของ กสม. จาก A เป็น B ก็ส่งผลต่อความเชื่อมั่นจากนานาชาติและองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ที่มีต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอีกด้วย