กทม. ฝุ่น PM 2.5 เริ่มคลี่คลาย

เหตุ “ลมใต้” พัดฝุ่นขึ้นเหนือ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ชี้ รัฐแก้ปัญหาช้า ทั้งที่ทำนายฝุ่นแม่นยำ แนะ ควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นก่อนวิกฤต

วันนี้ (25 ม.ค. 2564) กรมควบคุมมลพิษ รายงานคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ได้ระหว่าง 20-46 มคก./ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์ค่ามาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) ทุกพื้นที่ สาเหตุสำคัญมาจากอิทธิพลของ ลมใต้ ที่พัดขึ้นจากอ่าวไทยในช่วงกลางคืน พัดฝุ่นที่เคยสะสมหนาแน่นในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงกลางคืนจนถึงเช้าให้เจือจางลง แต่ลมใต้จะอ่อนกำลังลงช่วงกลางวัน ซึ่งอาจทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นอีกครั้ง

ข้อมูลจากเฟซบุ๊กเพจ ฝ่าฝุ่น ระบุว่า การเกิดปรากฏการณ์ ลมใต้ เป็นสัญญาณที่บอกว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล กำลังเริ่มคลี่คลายลง โดยลมใต้จะเริ่มพัดในช่วงนี้ ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเปลี่ยนถ่ายนี้ ลมใต้อาจจะยังไม่คงตัวและอาจทำให้สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อาจจะกลับไปกลับมาอีกพัก จนกว่าลมใต้จะเริ่มคงตัวในราวเดือนกุมภาพันธ์

และเมื่อลมใต้คงตัวก็จะพัดพาฝุ่นทั้งหมดขึ้นเหนือ ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของมหากาพย์ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือที่วิกฤตกว่ากรุงเทพฯ ซึ่งหลังจากนี้ ควรรณรงค์ลดการเผาในที่โล่ง รวมถึงป้องกันควบคุมไฟป่าให้ได้จะบรรเทาปัญหาฝุ่นในภาคเหนือได้

ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือเมื่อเวลา 07.00 น. เริ่มสูงหลายพื้นที่ โดยพบ 17 พื้นที่เริ่มมีค่าฝุ่นสูงเกินมาตรฐานในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยค่าฝุ่นสูงสุดอยู่ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก วัดได้ 73 มคก./ลบ.ม. ด้าน เฟซบุ๊กเพจ Smoke Watch รายงานสถานการณ์จุดความร้อนจากภาพถ่ายดาวเทียมในระบบ VIIRS ประจำวันที่่ 24 ม.ค. 2564 พบว่าในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย พบจุดความร้อนมากที่สุดสามลำดับแรก ได้แก่ ตาก แม่ฮ่องสอน และลำปาง โดยมีจุดความร้อน 83 จุด 63 จุด และ 60 จุดตามลำดับ

ขณะที่การรับมือกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังคงถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพและความไวต่อสถานการณ์ปัญหา โดย สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า ที่จริงการทำนายสถานการณ์ฝุ่นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ถือว่าค่อนข้างแม่นยำ ดังนั้น การจัดการต่อแหล่งกำเนิดในพื้นที่ต้องทำก่อนที่จะเกิดฝุ่นPM 2.5 รุนแรง ไม่ใช่มาตรวจวัดควันดำในวันที่มีฝุ่นรุนแรง

“การเร่งเครื่องสุดเพื่อให้ควันดำผ่านกระดาษกรองแล้วมาวัดความเข้มข้น ทำให้ฝุ่น PM 2.5 ยิ่งกระจายออกมามากขึ้น ทั้งที่เกินและไม่เกินมาตรฐาน ยิ่งตั้งด่านตรวจวัดควันดำในวันที่มีฝุ่นรุนแรงมากเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มฝุ่น PM 2.5ในบรรยากาศมากขึ้น หลายมาตรการต้องไปดำเนินการเพื่อลดแหล่งกำเนิดก่อนเกิดปัญหา”

ข้อมูล ณ วันที่ 23 ม.ค. 2564 พบว่า มีโรงงานประเภท 3 ในกรุงเทพฯ มากถึง 7,420 แห่ง, จ.สมุทรปราการ จำนวน 6,062 แห่ง และ จ.สมุทรสาคร 5,819 แห่ง โรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงและปล่อยฝุ่น PM 2.5 และถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการปิดสถานที่หลายแห่งจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม

แต่ยังมีรถยนต์ขนส่งสินค้าและรถบรรทุกซึ่งใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ปล่อยฝุ่น PM 2.5 ยังวิ่งอยู่ในเมืองมากกว่า 2.0 ล้านคันต่อวัน รวมทั้ง มีรถยนต์ดีเซล 4 ล้ออีกหลายพันคัน มีการเผาศพจากวัดที่ใช้น้ำมันเตาเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการก่อสร้างต่าง ๆ ที่ใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์ดีเซลจำนวนมาก

“การทำงานของภาครัฐยังไม่ค่อยประสานงานกันเท่าที่ควร ส่วนใหญ่ต้องรอกรมควบคุมมลพิษประกาศขอความร่วมมือก่อนถึงจะเริ่มดำเนินการทั้งๆ ที่มีแผนปฏิบัติการรองรับแล้วก็ตาม ในเมื่อมีการคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่าจะเกิดวิกฤติของฝุ่น PM 2.5 ช่วงไหนก็ควรเร่งจัดการหรือเข้าไปควบคุมแหล่งกำเนิดก่อนที่เกิดวิกฤติ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว