ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ระบุ แค่ซื้อเวลา ยังไม่เห็นยุทธศาสตร์ชัดเจน
เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2564 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ ที่ส่งผลกระทบต่อขั้นตอนการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ทั้งกรณีที่อาจจะตรวจสุขภาพและต่อวีซ่าไม่ทันภายในกำหนด รวมถึงการชะลอการส่งกลับผู้ต้องกักที่ได้รับโทษ หรือดำเนินคดีเสร็จสิ้นจากมาตรการงดการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติ ทำให้การส่งกลับทำได้ล่าช้ากว่าปกติ โดยเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ 2,335,671 คน ใน 3 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
1. กลุ่มที่ถือบัตรสีชมพู จำนวน 1,400,387 คน ประกอบด้วย (1.1) กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี 20 ส.ค. 2562 จำนวน 1,162,443 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2564 และ (1.2) กลุ่มแรงงานข้ามชาติตามมติคณะรัฐมนตรี 4 ส.ค. 2563 จำนวน 237,944 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 31 ก.ค. 2564
2. กลุ่มแรงงานข้ามชาติตาม MoU จำนวน 434,784 คน ได้แก่ (2.1) กลุ่มแรงงานข้ามชาติตามมติคณะรัฐมนตรี 10 พ.ย. 2563 จำนวน 119,094 คน และ (2.2) กลุ่มแรงงานข้ามชาติตาม MOU วาระการจ้างงานครบ 2 ปี จำนวน 315,690 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งจะทยอยครบกำหนด โดยสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2565
3. กลุ่มแรงงานข้ามชาติตามมติคณะรัฐมนตรี 29 ธ.ค. 2563 ซึ่งอยู่ระหว่างยื่นลงทะเบียนคาดว่ามีจำนวนประมาณ 500,000 คน ให้จัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล (Biometics) เพื่อการพิสูจน์ตัวตนของคนต่างด้าวและความมั่นคงของประเทศในช่วงเวลาเดียวกับที่ตรวจโควิด- 19 ภายในวันที่ 16 เม.ย. 2564 ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะส่งข้อมูลคนต่างด้าวที่ได้จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลแล้วให้กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงาน
ทั้งนี้ ยังให้สถานพยาบาลเอกชนที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถร่วมตรวจโควิด-19 ได้ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เร่งด่วน และสถานพยาบาลของรัฐอาจมีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับการตรวจตามกำหนดภายในวันที่ 16 เม.ย. 2564 โดยอัตราค่าตรวจโควิด-19 ต้องไม่เกิน 2,300 บาท ตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนด
สำหรับ กลุ่มผู้ต้องกักที่เป็นคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ที่มีประมาณ 500 คน อยู่ระหว่างรอการส่งกลับ ให้สามารถทำงานกรรมกรและงานบ้านได้ จนถึงวันที่ 13 ก.พ. 2566 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแล เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว ต้องส่งกลับประเทศต่อไป
ด้าน อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า มติ ครม. ดังกล่าว เป็นแค่การซื้อเวลา แม้การขยายเวลาให้กลุ่มที่กำลังดำเนินการต่อวีซ่าออกไปอีก 6 เดือน จะช่วยแก้โจทย์เรื่องการทำงานไม่ทันออกไป และลดการแออัดของผู้คนในการดำเนินการ แต่โจทย์เรื่องเอกสารหนังสือเดินทางหรือเอกสารแทนหนังสือเดินทาง ทำได้เพียงซื้อเวลาการดำเนินการออกไปอีก 6 เดือน เพื่อหวังว่าประเทศต้นทางจะเข้ามาดำเนินการได้ทัน แต่ไม่มียุทธศาสตร์การบริหารจัดการใด ๆ เป็นแค่การแก้ปัญหาให้พ้นตัวในแต่ละช่วงเท่านั้น
ส่วนกลุ่มจดทะเบียนใหม่ แม้จะลดค่าตรวจโควิด-19 เหลือ 2,300 บาท แต่ก็เพิ่มภาระให้แรงงานที่ต้องไปให้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลที่ ตม. เพิ่ม และยังต้องตรวจโควิด-19 ในระยะเวลาที่กำหนดเดิม ทำให้แรงงานต้องเดินทางและเสียเวลาในการดำเนินการมากขึ้น
อดิศร ย้ำว่า ปัญหาหลักของมติ ครม. ซื้อเวลานี้คือ จะมีการจัดการเรื่องหลักประกันทางสุขภาพของแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามอย่างไร เพราะจะมีแรงงานข้ามชาติกลุ่มมติ 4 ส.ค. 2563 ประมาณ 200,000 คน ที่ยังไม่มีหลักประกันทางสุขภาพ มีแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่จะจดทะเบียนตามมติ ครม. 29 ธ.ค. 2563 และอีกประมาณ 500,000 คน ที่ยังรอตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ เท่ากับว่า จะมีแรงงานข้ามชาติราว 700,000 คนขึ้นไป ที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ซึ่งยังไม่นับรวมกับกลุ่มเดิมที่ยังไม่เข้าประกันสังคม
นอกจากนี้ มติ ครม. ดังกล่าวก็ยังไม่ตอบโจทย์เรื่องการดึงคนเข้าระบบการตรวจสุขภาพ โดยเฉพาะในเรื่องค่าใช้จ่าย ยกเว้นจะให้มีการแบ่งจ่ายเป็นสองงวด คือ จ่ายค่าตรวจโควิด-19 2,300 บาทก่อนสงกรานต์ และ 4 เดือนถัดไป ก็ไปจ่ายค่าตรวจสุขภาพบวกประกันสุขภาพอีก 4,200 บาท และค่าใบอนุญาตทำงานอีก 1,900 บาท หลังจากนั้นก็ไปจ่ายค่าทำบัตรสีชมพูอีก 80 บาท