นักการศึกษาเสนอรัฐออกนโยบาย “โรงเรียนชนะ” เยียวยาความเสียหายทางการศึกษาจาก COVID-19

ระบุ ปิดเรียนนาน เกิดภาวะเรียนรู้ถดถอย ซ้ำเติมปัญหาคุณภาพที่มีอยู่เดิม ประเมินความเสียหายเศรษฐกิจกระทบต่อ GDP 9 แสนล้านเหรียญ ชูภาคการศึกษามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายปิดโรงเรียนกับ ศบค.

เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ​จัดเสวนาวิชาการ Equity Forum ในหัวข้อ “โรงเรียนต้องปรับตัวอย่างไร เมื่อโควิด-19 รุกรานการศึกษา?” โดยมี ศ.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษา กสศ. ,​ ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ.​ , ศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าโครงการขยายผลและพัฒนาความช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัยและเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานคร กสศ. , นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม, รศ.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี และ ศุภโชค ปิยะสันต์ ที่ปรึกษาชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และถอดบทเรียนสู่ข้อเสนอ “โรงเรียนชนะ” แนวทางการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายการศึกษารับมือการแพร่ระบาดโควิด-19

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษา กสศ. (คนที่ 2 ซ้าย)

ให้ภาคการศึกษามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายปิดโรงเรียนกับ ศบค.

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กล่าวว่า เห็นด้วยกับคำสั่งให้เปิดเรียนทั่วประเทศ 1 ก.พ. นี้ ​เพราะการระบาดของเชื้อโควิด-19 รอบใหม่นี้ต่างจากรอบที่แล้ว โดยมองว่าโรงเรียนไม่ใช่สถานที่แพร่เชื้อ ตรงกันข้ามยังคล้ายกับเป็นที่กักกันโรคของรัฐ (State Quarantine) ​​ ที่​ดึงเด็กออกจากชุมชน พื้นที่ตลาด และมีระบบควบคุมดูแลที่เข้มงวด โดยยังไม่พบว่ามีการติดเชื้อในโรงเรียนจนต้องสั่งปิดโรงเรียน ที่ผ่านมามีแค่ปิดโรงเรียนตามคำสั่งอำนาจรัฐด้วยความกลัวเกินกว่าเหตุ หากคำนวณแล้วปีการศึกษา 2563 มีการปิดโรงเรียนสองรอบรวม 90 วัน จากทั้งหมด 200 วัน คิดเป็นร้อย 40 ของเวลาเรียน ทำให้แด็กเกิดความถดถอยทางการเรียนรู้ร้อยละ 20 ถึงร้อยละ 50 ทั้งด้านการอ่าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ จากเดิมที่มีปัญหาอยู่แล้ว การปิดโรงเรียนนาน ๆ ยิ่งทำให้ปัญหาหนักขึ้น

“ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายเยียวยาผลกระทบภาคส่วนต่าง ๆ แต่โรงเรียนที่ได้รับผลกระทบเพราะถูกสั่งปิด ความรู้ถดถอยจะมีมาตการเยียวยาอย่างไร จึงอยากให้มีโครงการอย่างโรงเรียนชนะ เพื่อช่วยเยียวยาโรงเรียนและนักเรียน หากไม่รีบแก้ปัญหาเรื่องการเรียนที่ถดถอย จะส่งผลระยะยาวที่ยากต่อการแก้ไข”

​ศ.สมพงษ์ มีข้อเสนอให้ช่วยกันคิดว่าจะช่วยเหลือโรงเรียนขนาดกลาง-ขนาดเล็กอย่างไร รวมทั้งการวัดประเมินผลเด็กในช่วงที่จะกลับมาเปิดเรียนอีกครั้ง ทั้งการประเมินผลเพื่อการพัฒนา (Formative Assessment ) และการประเมินเพื่อสรุปผลการเรียนรู้ (Summative Assessment) ​ซึ่งเห็นว่าควรเข้าไปช่วยเหลือ 3 เรื่อง คือ

1.นวัตกรรมช่วยเหลือเรื่องการอ่านออกเขียนได้ ความรู้ถดถอย

2.จัดหาอาหารเช้าช่วยเหลือเด็กยากจนที่ได้รับผลกระทบ

3.หาอาสาสมัครช่วยครูดูแลนักเรียนในช่วง 45 วันนับจากนี้

นอกจากนี้การพิจารณาเรื่องการศึกษา ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ควรมีฝ่ายการศึกษาเข้าร่วมด้วย เพราะกว่าร้อยละ 80 มีสัดส่วนสาธารณสุขและเศรษฐกิจเท่านั้น

เฝ้าระวังภาวะถดถอยด้านการเรียนรู้ กระทบความเสียหายด้านเศรษฐกิจ

ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กล่าวว่า การเกิดขึ้นของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อมิติด้านการศึกษา ทั้งเรื่องความรู้ที่หายไป เศรษฐกิจครัวเรือนที่ส่งผลให้เด็กต้องหลุดจากระบบ การพัฒนาอารมณ์ สมอง สุขภาพจิตของเด็ก ผู้ปกครองและครู ​จากเดิมพบว่า ความยากจนของการเรียนรู้ หรือ Learning Poverty ของเด็กไทยอยู่ในระดับสูง คือเด็กต่ำกว่า 10 ขวบ มีปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้ร้อยละ 23  ในขณะเวียดนามอยู่ที่ร้อยละ 2 เท่านั้น อีกทั้งหากวัดเป็นจำนวนปีการเรียนรู้จากอนุบาลถึงมัธยมทั้งหมด 12.7 ปี การเรียนรู้ของเด็กไทยจริง ๆ จะอยู่แค่ 8.7 ปีเท่านั้น

“เมื่อต้องปิดเรียนเพราะโควิด-19 อีก ย่อมซ้ำเติมการเรียนรู้จนเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือLearning Loss มากขึ้น และเด็กนอกระบบมีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นด้วย จากการประเมินในทางเศรษฐศาสตร์การหยุดเรียน 4 เดือน จะทำให้จีดีพีของไทยในปี 2100 หายไป 9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ”

นอกจากนี้ จากการศึกษาของสหรัฐอเมริกาพบว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลต่อเด็กเล็กมากกว่าเด็กโต  และส่งผลกระทบกับเด็กด้อยโอกาส ยากจน และเด็กที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่  หากเทียบกับเด็กไทยจะคล้ายกับกลุ่มเด็กชาติพันธุ์ เพราะเมื่อไม่ได้มาโรงเรียน ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับครูหรือเพื่อน จะทำให้ทักษะภาษาหายไป รวมทั้งทักษะคณิตศาสตร์​และการอ่านที่หายไป โดยข้อสังเกตคือการจัดการเรียนต้องมีการจัดการเรียนแบบยืดหยุ่น มีทักษะความรู้ใหม่ ๆ จัดการศึกษาภายใต้สถานการณ์การศึกษาใหม่ ตลอดจนควรให้ความสำคัญกับการลดช่องว่างการเรียนรู้ Learning Gap

ภูมิศรัณย์ ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาในต่างประเทศ เช่น เอสโตเนีย มีการจัดที่ปรึกษาให้กับพ่อแม่ และมีนักจิตวิทยามาช่วยดูแลเด็กที่ไม่ได้มาโรงเรียน , ​อังกฤษ ตั้งงบ 1,000 ล้านปอนด์ เป็น  Education cacth-up intiative ฟื้นฟูทักษะของเด็กที่หายไป พร้อมจ้างติวเตอร์มาช่วยสอนเสริม จึงอยากให้ครูให้ความสำคัญกับความรู้ที่หายไป ​ใส่ใจ​ฟื้นฟูสุขภาพ กาย สุขภาพใจ อารมณ์ เด็กเล็ก เด็กเปราะบาง เด็กด้อยโอกาสที่ควรให้ความสำคัญเป็นกลุ่มแรก ในบริบทของเด็กไทย

โอกาสปรับหลักสูตร เปลี่ยนรูปแบบการศึกษา

รศ.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี หนึ่งในผู้พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเองชื่อ Black Box กล่าวว่า จากการประเมินความพร้อมของผู้เรียน พบว่า สภาวะถดถอยทางการเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะที่ผ่านมาเป็นการเรียนรู้แบบพาสซีฟ คล้ายกับท่อดับเพลิงฉีดน้ำที่ฉีดความรู้ไปให้เด็ก เด็กรับได้แค่ไหนก็แค่นั้น และไม่ใช่แค่หยุดเรียนแล้วจะลืมความรู้ แค่ก้าวพ้นประตูก็ลืมแล้ว

“การจะวัดความถดถอยในเชิงคอนเทนต์ประเด็นนี้อาจจยังไม่เห็นด้วย แต่อาจต้องกลับไปทบทวนถึงปัญหาต้นเหตุ คือการเรียนรู้ที่ไม่ได้เป็นแบบแอคทีฟเลิร์นนิ่ง ที่ต้องไปปรับเปลี่ยนที่ต้นเหตุป้องกันการถดถอย แต่สิ่งสำคัญที่ควรจะตรวจสอบความพร้อมก่อนคือเรื่องจิตใจจากสภาพความเครียด ความยากลำบาก ความไม่พร้อมที่จะเรียนรู้ ไปจนถึงเรื่องความสามารถการเรียนรู้ ที่มีทั้งความคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ เปิดรับสิ่งใหม่  ในขณะที่เด็กโตอาจจะต้องมีการวัดคอนเทนต์บ้าง แต่ประโยชน์จากการวัดความถดถอยของผู้เรียนต้องไม่ใช่การตัดสินว่าโควิด-19 ทำให้เกิดความถดถอยทางการเรียนรู้ แต่ต้องเป็นการประเมินเพื่อการพัฒนา เพื่อดูว่ายังขาดเรื่องอะไร ต้องเติมเรื่องอะไร”

รศ.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ (คนที่ 2 ขวา) นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร (คนที่ 1 ซ้าย)

สอดคล้องกับ นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานมูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ที่ถอดบทเรียนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบที่แล้ว ได้เข้าไปช่วยดูการจัดการเรียนการสอนในหลายเรื่อง พบว่าสิ่งสำคัญคือการทำให้เกิดการเรียนรู้ในช่วงที่ต้องหยุดอยู่บ้าน จึงได้จัดทำ Learning Box ให้ผู้ปกครองช่วยดู แต่ผู้ปกครองก็ไม่สามารถจัดการสอนเหมือนครูได้ จึงต้องปรับกิจกรรมให้ซับซ้อนน้อยลง และเปิดให้หาอุปกรณ์ที่อยู่รอบตัวมาทำกิจกรรมได้ อย่างไรก็ตามการเรียนรู้ที่บ้านยังมีช่องว่างที่ไม่เหมือนเรียนในห้องเรียน แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ทำ อีกด้านหนึ่งยังมีเรื่องอาสาสมัครจากชุมชนเข้าไปช่วยดูแล เพราะปิดรอบแรกคนภายนอกจะเข้าพื้นที่ไม่ได้ จึงให้ผู้ปกครอง คนในหมู่บ้าน รุ่นพี่เด็กโตมาช่วยดูแลน้อง ๆ ในหมู่บ้าน เป็นการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

“ควรหาโอกาสจากวิกฤตที่เกิดขึ้น เรื่องเนื้อหาควรใช้ช่วง New normal นี้ ได้ทบทวนเรื่องการมุ่งหาหลักสูตรฐานสมรรถนะรวมไปถึงเรื่องการประเมินผล ที่ไม่สามารถประเมินแบบเดิมได้ แต่ต้องประเมินตามสภาพจริงเพื่อนำไปสู่การพัฒนา ไม่ใช่การประเมินเพื่อวัดแค่สอบได้หรือสอบตก ​สิ่งที่เห็นตรงกันในช่วงนี้ที่จะต้องรีบทำคือการลดช่องว่างทางการศึกษา  เช่น เรื่องโครงการพิเศษหาอาสาสมัครเป็นติวเตอร์ให้เด็กในพื้นที่ และเมื่อเปิดเรียนเด็กขยับเลื่อนชั้นแล้วก็ยังต้องมีการส่งต่อข้อมูล เป็นทีมทีชชิ่งดูแลเด็กในองค์รวม เสริมเพิ่มเติมสิ่งที่ขาดในช่วงที่ต้องหยุดเรียนไม่ใช่เลื่อนชั้นแล้วจบเลย”

ด้าน ศุภโชค ปิยะสันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยไร่สามัคคี จ.เชียงราย ในฐานะที่ปรึกษาชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร ร่วมสะท้อนว่า ที่ผ่านมามีบางโรงเรียนต้องเสียโอกาสทางการเรียนรู้เพราะต้องปิดโรงเรียน ทั้งที่ในพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ซึ่งช่วงที่ต้องปิดเรียนพบปัญหาเรื่องการเรียนรู้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลัก พ่อแม่ผู้ปกครองไม่สามารถช่วยลูกทำกิจกรรมใบงาน การเรียนรู้จึงมีอุปสรรค ครูก็ต้องจัดตารางเวลาไปหาเด็กในพื้นที่ที่นัดหมาย การมี Learning Package เข้าไปช่วยก็จะทำให้ครูทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะที่ผ่านมา การเรียนรู้ออกแบบมาให้ใช้โรงเรียนเป็นฐาน ดังนั้นการที่จะมีแพคเกจการเรียนรู้ที่ออกมาแบบตามช่วงชั้น ช่วงวัย ก็จะช่วยได้มากขึ้น

ตอนนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้คัดเลือกเนื้อหาออกแบบวิธีการเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น หากในกรณีที่ต้องมีการหยุดการเรียนอีกรอบ เด็กก็จะได้มีเครื่องมือเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยมีการสืบค้น ตั้งคำถาม บันทึก วิเคราะห์ สังเคราะห์ เรียนรู้ได้จากหลายแหล่งข้อมูล โดยมีชุมชนเครือข่ายทรัพยากรในพื้นที่ เป็นแหล่งเรียนรู้ พร้อมทั้งดึงปราชญ์ชาวบ้านมามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการศึกษาให้กับบุตรหลานในพื้นที่​

“อยากบอกเพื่อนครูในพื้นที่ห่างไกลว่าหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องวางวิธีการเดิม รุกไปหาปัญหา เปลี่ยนวิธีการจัดการเรียนรู้ เพราะไม่แน่วันข้างหน้าก็อาจจะกลับมาเจอสถานการณ์เช่นนี้ได้อีก เช่นเดียวกับเรื่องอาสาสมัครการศึกษาที่เข้าไปช่วยดูแลเด็กในพื้นที่รอบที่ผ่านมาที่ทำได้ดีแล้ว สิ่งที่จะสามารถทำได้เลยคือเรื่องโครงการสร้างพื้นฐาน ทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศ สัญญาณอินเทอร์เน็ต”

บรรยากาศเสวนาวิชาการ Equity Forum “โรงเรียนต้องปรับตัวอย่างไร เมื่อโควิด-19 รุกรานการศึกษา?”

ศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าโครงการขยายผลและพัฒนาความช่วยเหลือกลุ่มเด็กปฐมวัยและเด็กปฐมวัยนอกระบบในกรุงเทพมหานคร กสศ. เพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งสองรอบ เป็นเรื่องท้าทายมนุษยชาติจากสภาพแวดล้อม  ​ความเปลี่ยนแปลง ภัยพิบัติ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไปเรื่อย ๆ  ฉะนั้น ​เด็กควรที่จะเติบโตเรียนรู้การใช้ชีวิต แบบยืดหยุ่น พร้อมรับสิ่งที่เข้ามาใหม่ ๆ  อีกทั้งกระบวนรการเรียนรู้ ควรเน้นไปที่เรื่องทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่ และยอมรับความเปลี่ยนแปลง ไม่ควรหยุดนิ่งแต่ต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ ขณะที่ภาครัฐมีหน้าที่ต้องตอบสนองให้ทันเวลาเกิดเหตุในพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน การใช้คำสั่งเดียวทั้งหมดไม่มีเหตุผล ​

“สิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้ คือการยอมรับความเสี่ยง ไม่มีที่ไหนที่บอกได้ว่าไม่มีความเสี่ยง แต่ทุกคนต้องรู้ว่าถ้ามีความเสี่ยงมากต้องทำอย่างไร โรงเรียนในพื้นที่ระดับจังหวัดควรมีสิทธิตัดสินใจ โดยต้องมีขีดความสามารถในการเฝ้าระวังสถานการณ์ของตนเอง”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม