แรงงานหญิง ยื่นรัฐ ช่วยเยียวยาผลกระทบโควิด-19

กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี พร้อมเครือข่ายฯ ร้อง เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ถูกกดดันให้ออกจากงาน ทั้งที่มีภาระครอบครัวต้องดูแลเช่นกัน

วันนี้ (1 ก.พ. 2564) กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี พร้อมเครือข่าย ได้แก่ สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย และกลุ่มทำทาง จัดกิจกรรมชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องเยียวยาแพทย์และพยาบาลหญิงที่ต้องทำงานหนักโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันเพื่อความปลอดภัยในการทำงานท่ามกลางโรคระบาด (ชุด PPE) ที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ พยาบาลหญิงที่ไม่มีสามีและลูก ถูกขอร้องให้ทำงานล่วงเวลา ในช่วงโรคระบาดโควิด-19 โดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงว่าเธอยังมีภาระทางบ้านอื่นให้ดูแลเช่นกัน เช่น พ่อแม่ ครอบครัวที่บ้าน รวมทั้งคนงานหญิง หรือคนงานหญิงตั้งครรภ์ ในภาคส่วนอื่น ๆ ก็มักเป็นตัวเลือกแรก ๆ ที่นายจ้างเลิกจ้าง กดดันให้ออกจากงาน

โดยกลุ่มฯ เรียกร้องให้รัฐต้องมีมาตรการแก้ไขการละเมิดสิทธิแรงงานจากกรณีที่นายจ้างกระทำโดยอ้างเหตุ โควิด-19 แต่ปิดบังเจตนาที่แท้จริงที่ต้องการขัดขวางกระบวนการจัดตั้งสหภาพแรงงาน โดยรัฐต้องมีมาตรการในการตรวจสอบการเลิกจ้างที่เข้มงวด ไม่ผลักภาระให้ลูกจ้างเป็นผู้พิสูจน์ความผิด-ถูก สร้างความมั่นคงในอาชีพและรายได้ ให้แรงงานทุกกลุ่มอาชีพให้ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม จัดหาอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานสากลในการป้องกัน โควิด-19 ให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่ทำงานเกี่ยวข้อง รวมถึงเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับผู้หญิงในการเข้าถึงกองทุนช่วยเหลือในทุกโครงการฯ ที่รัฐบาลจัดทำเพื่อช่วยเหลือแรงงานในสถานการณ์ โควิด-19

ในเรื่องการเยียวยาประชาชน เรียกร้องให้รัฐต้องเยียวยาประชาชนทุกคนเป็นเงินสด เพื่อให้สะดวกต่อการเข้าถึงสำหรับประชาชนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟนหรืออินเทอร์เน็ต จัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กลูกคนงานในย่านอุตสาหกรรมและชุมชนอุตสาหกรรมโดยไม่ต้องคำนึงถึงการมีทะเบียนบ้านในพื้นที่ ให้ทุกคนที่มีลูกก่อนปฐมวัยสามารถเข้าเรียนได้โดยไม่มีเงื่อนไข อีกทั้งต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณการศึกษา อุปกรณ์ และอาหาร จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในช่วงที่รัฐบาลประกาศปิดศูนย์เลี้ยงเด็กระหว่างมีโรคระบาด

รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณในการส่งเสริมสุขภาวะอนามัยเจริญพันธ์ที่ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยต้องจัดให้ผู้หญิงหรือผู้ที่มีสภาพร่างกายเป็นหญิงสามารถเข้าถึงผ้าอนามัยหรือถ้วยอนามัยที่มีคุณภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสนับสนุนให้ผู้ที่มีสภาพร่างกายเป็นหญิงสามารถเข้าถึงบริการทำแท้งที่ ปลอดภัย เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ทำแท้ง โดยไม่มีการดำเนินคดีอาญาหรือตีตราผู้ทำแท้ง

ด้าน ประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้รับหนังสือแทน กล่าวต่อกลุ่มชุมนุมว่า หลังจากรับข้อเรียกร้องแล้ว จะไปการประมวลว่ามีหน่วยงานใดเกี่ยวข้องบ้าง จากนั้นจะยื่นเรื่องถึงนายกรัฐมนตรีให้สั่งการต่อไป โดยรัฐบาลมีศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ด้านเศรษฐกิจที่ทำงานอยู่แล้ว พร้อมรับปากว่าจะดำเนินการทันทีและจะแจ้งผลการยื่นให้ทราบทางโทรศัพท์

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว