ทส. เตรียมตั้ง คณะกรรมการร่วม รัฐ นักวิชาการ ชาวบ้าน

ตรวจสอบข้อมูล-แก้ไขปัญหากะเหรี่ยงแก่งกระจาน แต่ยังไม่ชัดเจน จะดำเนินคดีชาวบ้านที่กลับเข้าป่าหรือไม่

วันนี้ (1 ก.พ. 2564) ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษา ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ เปิดเผยกับ The Active ถึงความคืบหน้ากรณีการแก้ปัญหากะเหรี่ยงแก่งกระจาน ระบุว่า คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ผู้แทนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และผู้แทนพีมูฟ มีมติร่วมกันว่า จะให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วม เพื่อทำหน้าที่กำกับ ติดตาม เร่งรัด การแก้ไขปัญหากะเหรี่ยงแก่งกระจาน

ประยงค์ ระบุว่า คณะกรรมการชุดนี้จะลงนามแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาพีมูฟ โดยให้รองปลัด ทส. เป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนแรก คือ ภาครัฐ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ผู้ตรวจราชการ ทส. และผู้แทนกรมอุทยานฯ

ส่วนที่สอง เป็นฝ่ายวิชาการ มีตัวแทนศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร และตัวแทนสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ส่วนที่สาม ภาคประชาชน ประกอบด้วยตัวแทนพีมูฟ 2 คน ตัวแทนเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมภาคตะวันตก 2 คน และชาวบ้านบางกลอย 1 คน

ส่วนภารกิจสำคัญของคณะกรรมการชุดนี้ คือ การพิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งต้องลงไปสำรวจข้อมูลร่วมกันว่าขณะนี้มีชาวบ้านที่เดือดร้อนจำนวนเท่าไหร่ ที่ถูกอพยพลงมา แต่ละกลุ่มลงมาในช่วงปีไหน อย่างไร เคยได้รับความช่วยเหลืออะไรไปแล้วบ้าง และปัญหาและความต้องการในปัจจุบันคืออะไร เช่น ต้องการกลับขึ้นไปที่ใจแผ่นดินเท่าไหร่ ส่วนที่ไม่ต้องการกลับ แต่ต้องการที่ดินทำกินเท่าไหร่ และยังไม่มีสัญชาติเท่าไหร่

ประยงค์ กล่าวด้วยว่า ข้อตกลงนี้เป็นความคืบหน้าหลังจากพีมูฟได้ยื่นข้อ 5 เรียกร้องถึง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ จงคล้าย วรพงศธร ผู้ตรวจราชการ ทส. ระหว่างที่คณะทำงานฯ การลงพื้นที่แก่งกระจาน เมื่อ 26-28 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยคาดว่า รมว.ทส. จะดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการได้แล้วเสร็จและเริ่มทำงานได้ภายในสัปดาห์นี้

อย่างไรก็ตาม แม้จะถือว่ามีความคืบหน้า แต่ประยงค์กล่าวว่า ยังไม่มีหลักประกันและความชัดเจนว่าจะมีการชะลอดำเนินการทางกฎหมายต่อกลุ่มชาวบ้านที่ขึ้นไป ก่อนที่คณะกรรมการที่กำลังแต่งตั้งนี้จะมีข้อสรุปหรือไม่ หลังจากหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ยังคงยืนยันว่าจะต้องมีการดำเนินคดีต่อกลุ่มชาวบ้านที่กระทำผิดกฎหมายอุทยานแห่งชาติ

ทั้งนี้ ข้อตกลงแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าว เป็นไปตามข้อเรียกร้องข้อที่ 5 ของพีมูฟ โดยข้อเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ มีรายละเอียด ดังนี้

1. รัฐบาลต้องหามาตรการในการเยียวยาและคืนสิทธิให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนและประสงค์จะกลับไปอยู่อาศัย ทำกิน ทำไร่หมุนเวียน และดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดินอย่างถาวร โดยรัฐต้องไม่ดำเนินการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านกลุ่มดังกล่าว

2. เร่งรัดดำเนินการจัดหาที่ดินเพื่อนำมาจัดสรรให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อน จากการไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยและประสงค์จะดำรงชีวิตอยู่ในชุมชนบางกลอยล่าง โดยเร่งด่วนที่สุด โดยมีเป้าหมาย กระบวนการและระยะเวลาที่ชัดเจนแน่นอน

3. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการ ลงรายการสัญชาติไทยแก่ราษฎรในหมู่บ้านบางกลอย

4. ให้มีการจัดตั้งกลไกเพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงชาวบ้านผู้เดือดร้อนที่ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยมีส่วนร่วมจากฝ่ายต่าง ๆ ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สถาบันวิชาการ ได้แก่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชาวบ้านบางกลอย ผู้เดือดร้อน

5. ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมอย่างเป็นทางการ เพื่อทำหน้าที่ กำกับ ติดตาม เร่งรัด การดำเนินการตามข้อ 1–4 โดยมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้ ปลัดหรือรองปลัดกระทรวงที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน อธิบดีกรมอุทยานฯ กรมการปกครอง เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และผู้แทนชาวบ้านบางกลอย ผู้เดือดร้อน

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว