ครม. เห็นชอบมาตรการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์

คณะรัฐมนตรี มีมติให้ “กรมควบคุมมลพิษ” ยกร่างกฎหมายกำจัดซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่ร่างฯ สมัย สนช. ยังค้างอยู่ที่ คพ.

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2564 รับทราบมาตรการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ โดยในส่วนการแก้ปัญหาการจัดการขยะอิล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ มีข้อสรุปสำคัญ คือ

ให้ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรมการปกครอง และกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดสถานที่รับคืนขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประชาชน และนำไปจัดการอย่างถูกต้อง จัดทำระบบการติดตามตรวจสอบและรายงานผลเพื่อกำกับดูแลให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง โดยมีระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

ในส่วนกฎหมายที่จะนำมาบังคับใช้ในระหว่างรอกฎหมายเฉพาะ ให้ใช้กฎกระทรวงการจัดการมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชน พ.ศ. 2563 ดำเนินการไปก่อน และให้ กรมอนามัย ออกกฎกระทรวงสาธารณสุขเพื่อกำหนดให้กิจการถอดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเตรียมความพร้อมของหลักเกณฑ์/สุขลักษณะของสถานประกอบกิจการถอดแยกและวิธีการถอดแยกอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

นอกจากนี้ ให้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผลักดันให้ท้องถิ่นออกข้อบัญญัติท้องถิ่นตามกฎกระทรวงสาธารณสุข เพื่อกำหนดให้กิจการถอดแยกซากขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และให้หน่วยงานกำกับดูแลเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสถานประกอบกิจการถอดแยกฯ ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

และให้ กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมอนามัย และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. เพื่อให้มีระบบการจัดการขยะอิล็กทรอนิกส์มีประสิทธิภาพ โดยใช้หลักการการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน

ส่วนการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ได้ออกประกาศยกเลิกการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์แล้ว จำนวน 428 รายการ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563 ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563

ให้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กำหนดเงื่อนไขการนำเข้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้ว เพื่อควบคุมชนิดและปริมาณเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้แล้วที่เหมาะสมกับความต้องการที่แท้จริงของประเทศ ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

และให้ กรมศุลกากร และกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดให้มีระบบการตรวจสอบตู้บรรทุกสินค้าอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างผิดกฎหมายหรือการสำแดงเท็จ ระยะเวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายใน 6 เดือน

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีในสมัย คสช. เคยมีมติเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. … ที่ กรมควบคุมมลพิษ ภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในขณะนั้นเป็นหน่วยงานนำเสนอ

แต่ใช้เวลากว่า 4 ปี กว่าที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะได้เริ่มพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2562 โดยครั้งนั้น สนช. มีมติรับหลักการและให้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาในวาระ 2 ต่อไป แต่หลังจาก สนช. ยุติการปฏิบัติหน้าที่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 เนื่องจากมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วนั้น ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ถูกส่งกลับไปให้กรมควบคุมมลพิษแก้ไขเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ ประชาชาติธุรกิจ มีรายงานเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ว่า หลังจากการกลับไปแก้ไขเพิ่มเติมตั้งแต่ต้นปี 2562 ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนิน เนื่องจากกรมควบคุมมลพิษยังไม่พิจารณาข้อเสนอเรื่องการตั้ง “องค์กรกลาง-กองทุน” ตามที่ภาคเอกชนเสนอ โดยระบุเหตุผลว่ายังไม่มีกฎหมายใดรองรับร่าง ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ. ที่น่าจะเสร็จตั้งแต่ปี 2563 อาจล่าช้าไปจนถึงกลางปี 2564

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว