เชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างฯ หลังพบปัญหาจากภาคอุตสาหกรรม เกษตร บริการ ทวีความรุนแรง เพื่อให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลในการแก้ปัญหามลพิษ
เว็บไซต์ การรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเชิญชวนให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ ร่างพระราชบัญญัติการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. …. ที่เสนอโดย วรภพ วิริยะโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กับคณะ
โดยหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมาย ระบุว่า ปัญหาการปล่อยสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมจากภาคอุตสาหกรรม เกษตร และบริการ ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อสุขภาพมนุษย์และระบบนิเวศทางธรรมชาติ ขณะที่กฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบันยังเน้นการควบคุมปลายทาง จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายที่รายงานข้อมูลการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลที่ครอบคลุมและเป็นระบบในการแก้ปัญหามลพิษได้อย่างถูกต้อง
ส่วนสาระสำคัญของร่างกฎหมาย ให้มีคณะกรรมการที่มีอำนาจกำหนดบัญชีรายชื่อสารมลพิษ กำหนดบริเวณพื้นที่ที่ร่างกฎหมายนี้ใช้บังคับ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณปริมาณสารมลพิษที่ปล่อยหรือเคลื่อนย้ายออกสู่สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้บุคคล นิติบุคคล หรือหน่วยงานของรัฐที่ผลิต มีไว้ในครอบครอง เคลื่อนย้าย หรือปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมซึ่งสารมลพิษที่ปรากฏในบัญชีรายชื่อสารมลพิษและตามปริมาณที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ต้องจัดทำรายงานข้อมูลชนิดและปริมาณการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษ ซึ่งหากไม่รายงานข้อมูลโดยไม่มีเหตุอันควร ต้องได้รับโทษปรับทางปกครองในอัตราไม่เกินร้อยละหนึ่งของรายได้ในปีที่กระทำความผิด และหากมีการรายงานข้อมูลเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงห้าล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าว มีสถานะเป็น ร่างการเงิน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 เรื่อง “แนวทางการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” กำหนดสาระสำคัญว่า ร่างกฎหมายฉบับใหม่ ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างน้อย 15 วันทางอินเทอร์เน็ต โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นมาตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค.2564 จึงยังไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุดการรับฟังความคิดเห็น
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก กรีนพีซ เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า แนวคิดของการให้มีทำเนียบข้อมูลการปลดปล่อยและการเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers – PRTR) เกิดขึ้นครั้งแรกจากเหตุการณ์ระเบิด และสารเคมีรั่วที่โรงงานยูเนียนคาร์ไบด์ที่เมืองโภปาล อินเดียใน พ.ศ. 2527 และสารเคมีรั่วไหลในรัฐเวสท์เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา คนงานและชุมชนที่มีโรงงานตั้งอยู่ใกล้เคียงต่างเรียกร้องให้โรงงานเปิดเผยข้อมูลการใช้สารเคมีอันตรายให้กับสาธารณชน
จากนั้น หลายประเทศทั่วโลกจึงมีการออกกฎหมายและนำเอา PRTR ไปประยุกต์ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดแนวทางวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลการจัดการสารเคมีเพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันตนเองจากมลพิษ
และยังเป็นไปตามยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการจัดการสารเคมีและมลพิษทั้งในและระหว่างประเทศ เช่น แผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2550-2554) แผนปฏิบัติการที่ 21 (Agenda 21) อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants: POPs) ยุทธศาสตร์การดำเนินงานระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการสารเคมี (Strategic Approach to International Chemicals Management : SAICM)
โดยในส่วนประเทศไทย องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมได้เริ่มผลักดันและขับเคลื่อนให้มีการร่างกฎหมายเรื่องนี้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2558 ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมแถลงล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 เตรียมทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานให้เข้มงวดขึ้น ตลอดจนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการออกกฎหมายรายงานการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR)