ตั้ง “สมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทอง” ยกระดับการคัดค้านเหมืองทองคำในพื้นที่ จ.จันทบุรี เตรียมพร้อมต่อสู้ระยะยาว
เมื่อวันที่ (4 ก.พ. 2564) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และภาคประชาสังคม ในจังหวัดจันทบุรี ประกาศร่วมกันจัดตั้ง “สมาพันธ์คนจันท์ต้านเหมืองทอง” เพื่อยกระดับการคัดค้านเหมืองทองคำในพื้นที่ เตรียมความพร้อมต่อสู้ระยะยาว
ธีระ วงษ์เจริญ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดจันทบุรี ให้สัมภาษณ์ The Active ว่า เหตุผลที่จัดตั้งสมาพันธ์ฯ เพราะการต่อสู้ในอดีตเป็นแบบชาวบ้านและยังมีลักษณะต่างคนต่างเดิน ขณะที่สถานการณ์ก็ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาต่อสู้ที่ยาวนาน ก็เลยมีความเห็นว่าควรจะมีองค์กรถาวร จึงจัดตั้งสมาพันธ์ขึ้น องค์ประกอบมีคณะกรรมการประมาณ 15 คน เพื่อให้มีความคล่องตัวในการตัดสินใจขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ เป้าหมายหลัก คือ การคัดค้านเหมืองทองในพื้นที่ จ.จันทบุรี ยังมีเป้าหมายในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วย
แต่เนื่องจากองค์ประกอบมีทั้งภาครัฐ นักวิชาการ ประชาชน เอกชน และประชาสังคม ดังนั้น ในบางส่วนของสมาพันธ์ฯ อาจจะมาในนามตัวบุคคล เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว ขณะที่เครือข่ายเดิมที่มี 44 องค์กรก็ยังคงอยู่ โดยสมาพันธ์เป็นเหมือนร่มใหญ่ในการดูแลประสานความร่วมมือในภาคใหญ่ในเชิงนโยบาย
ส่วนสถานการณ์ในขณะนี้ มีความพยายามปล่อยข่าวในพื้นที่ว่า มีแกนนำบางคนเงียบหายไปเพราะรับเงินจากบริษัทเหมืองแล้ว แต่ก็ไม่ทำให้คนในพื้นที่หวั่นไหว ทุกคนยังคงคัดค้านเพราะมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่สูงถึง 6 หมื่นล้านบาทต่อปีที่อาจจะหายไปจากการทำเหมืองทองคำ แลกกับค่าภาคหลวงปีละ 5 พันล้าน
“มูลค่าสินค้าเกษตรอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี และได้ทุกปี แต่ถ้าทำเหมืองทองคำ ปีหนึ่งอาจจะได้ค่าภาคหลวงปีละ 5 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งไม่คุ้มเลย แล้วยังต้องอพยพคนออกนอกพื้นที่ ก็จะเกิดปัญหาบุกรุกที่ทำกินใหม่ สร้างปัญหาเรื้อรังต่อไปอีก อยากให้นายกรัฐมนตรีทบทวนนโยบายนี้ เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติให้ลูกหลาน”
ทั้งนี้ บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด เป็นบริษัทที่อยู่ในเครือของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กับกลุ่มคิงสเกท แคปปิตอล ออสเตรเลีย ซึ่งกำลังมีข้อพิพาทกับรัฐบาลไทย ในกรณีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 72/2559 สั่งระงับการอนุญาตให้สำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส ในพื้นที่รอยต่อของจังหวัดพิจิตร-เพชรบูรณ์-พิษณุโลก ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2559 โดยคดีนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่กลุ่มคิงสเกทฯ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลไทย
โดย บริษัท ริชภูมิฯ ได้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ ในพื้นที่ ต.พวา ต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรีตามคำขอที่ 8/2549 กับ 9/2549 เนื้อที่ 14,650-0-0 ไร่ รวมพื้นที่ 14,650 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง 22 หมู่บ้าน และโดยเฉพาะผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรซึ่งรายได้หลักที่สร้างมูลค่ามหาศาลให้กับ จ.จันทบุรี